8 องค์ประกอบสำคัญ ในการเขียนจดหมายสมัครงานให้สะดุดตาฝ่าย HR

ข่าวทั่วไป Wednesday August 20, 2014 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--PC & Associates Consulting เชื่อหรือไม่ว่าฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ใช้เวลาโดยเฉลี่ยเพียง 6 วินาที ในการมองหาความน่าสนใจจากจดหมายสมัครงานที่กองอยู่เต็มโต๊ะทำงานของเขา และนี่คือ 8 องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้จดหมายสมัครงานของคุณมีความน่าสนใจ และเป็นที่สะดุดตาฝ่าย HR 1. ใส่เบอร์โทรศัพท์และอีเมลเพียงอันเดียวที่สามารถติดต่อได้ตลอดเวลาไว้ด้านบนของจดหมายสมัครงาน –เพื่อที่นายจ้างจะเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อต้องการติดต่อนัดสัมภาษณ์งาน และเพื่อให้คุณไม่พลาดการติดต่อหากนายจ้างโทรไปอีกเบอร์ที่คุณไม่ได้ใช้หรืออีเมลที่คุณไม่ได้เช็คอยู่ตลอด 2. ไม่จำเป็นต้องใส่จุดมุ่งหมายในอาชีพ (Career Objective) หากมันไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อบริษัท - การเขียน Career Objective ประมาณว่า “ต้องการประสบการณ์ในสายงาน หรือโอกาสในการพัฒนาทักษะความสามารถ” ไม่ได้ทำให้คุณดูน่าสนใจมากขึ้น ควรตัดมันทิ้ง เพื่อที่คุณจะมีพื้นที่สำหรับโชว์จุดเด่นอย่างอื่นดีกว่า 3. ใส่สรุปประวัติส่วนตัว (Executive Summary) แทน Career Objective - การเขียน Executive Summary เป็นการสรุปโดยย่อเกี่ยวกับตัวคุณ อาทิ จุดเด่น คุณสมบัติ และคุณค่าที่คุณมีต่อบริษัท ประมาณ 3 – 5 ข้อ เพื่อให้นายจ้างรู้จักคุณมากขึ้น 4. ใช้คีย์เวิร์ดเดียวกับที่ระบุในประกาศงาน - คีย์เวิร์ดที่ระบุในประกาศงานคือคุณสมบัติที่นายจ้างต้องการ คุณจึงควรใช้คีย์เวิร์ดในจดหมายสมัครงานของคุณให้ตรงกับคีย์เวิร์ดในประกาศงานด้วย เมื่อฝ่าย HR กวาดตาดูจดหมายสมัครงานของคุณก็จะสะดุดกับคีย์เวิร์ดที่ตรงกับความต้องการของเขาในทันที 5. ให้ข้อมูลบริษัทที่คุณเคยทำงาน - การที่นายจ้างได้รู้ว่า คุณเคยทำงานในอุตสาหกรรมใด บริษัทขนาดใหญ่หรือเล็กมาก่อน จะช่วยทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น หากคุณต่อยอดในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่าลืมที่จะบอกให้นายจ้างรู้ แต่หากคุณต้องการเปลี่ยนงานไปยังอุตสาหกรรมอื่น อาจเลือกที่จะโฟกัสที่ขนาดของบริษัทแทน 6. ระบุความสำเร็จเป็นข้อๆ - ด้านล่างของประสบการณ์การทำงานในแต่ละที่ ควรบรรยายถึงความสำเร็จที่คุณได้ทำให้กับทีมหรือบริษัทที่ผ่านมา โดยเริ่มจากผลที่ได้ แล้วจึงตามด้วยวิธีการได้มาซื่งผลนั้น เช่น เพิ่มยอดขาย 40% ต่อเดือนโดยการ...” ความยาวประมาณ 2 – 5 ข้อ 7. ประวัติการศึกษาเอาไว้ท้ายสุด - หากคุณไม่ใช่นักศึกษาจบใหม่ ควรเน้นที่ประสบการณ์การทำงานเป็นหลัก ส่วนประวัติการศึกษาควรย้ายไปไว้ตอนท้ายของจดหมายสมัครงาน และไม่จำเป็นต้องใส่ประวัติการศึกษาระดับมัธยมลงไป 8. ไม่ระบุข้อมูลบุคคลอ้างอิง ( References upon request) - ฝ่าย HR รู้ดีอยู่แล้วว่า ผู้สมัครจะให้ข้อมูลบุคคลอ้างอิงก็ต่อเมื่อ HR ร้องขอ จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องใส่ประโยคนี้ลงไปในจดหมายสมัครงานของคุณ อย่าลืมว่า พื้นที่ในจดหมายสมัครงานของคุณมีค่ามากกว่าจะเสียไปกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ