ปภ.เตือนพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียสมาธิและก่อให้เกิดอันตรายขณะขับรถ

ข่าวทั่วไป Tuesday August 26, 2014 18:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือ แต่งหน้า ดูโทรทัศน์ ชมภาพยนตร์ พร้อมแนะผู้ขับขี่ควรหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมหรือใช้อุปกรณ์อื่นใดที่ต้องละสายตาจากเส้นทาง และปล่อยมือจากพวงมาลัย จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การประกอบกิจกรรมอื่นในขณะขับรถ ทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิ นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เกิดอุบัติเหตุสูงกว่าปกติ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเตือนกิจกรรมที่ทำให้เสียสมาธิขณะขับรถ ดังนี้ คุยโทรศัพท์มือถือ สมาธิของผู้ขับขี่จดจ่อกับบทสนทนา ส่งผลให้การตอบสนองต่อการขับขี่ช้าลง หากผู้ขับขี่ใช้มือจับหรือถือโทรศัพท์ จะเหลือมือบังคับพวงมาลัยเพียงข้างเดียว จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมรถ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถหักหลบสิ่งกีดขวางได้ทัน การใช้โปรแกรมคุยหรือแช็ททางโทรศัพท์มือถือ ผู้ขับขี่ต้องใช้มือเลื่อนหน้าจอและพิมพ์ข้อความ จึงรบกวนสมาธิในการขับรถ แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่กี่วินาที ก็ทำให้การตอบสนองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินช้าลง ทานอาหาร ผู้ขับขี่ต้องใช้มือทั้งสองข้างรับประทานอาหาร อีกทั้งต้องเหลือบตามอง เพื่อตักอาหารเข้าปาก ขณะที่บางคนอาจรับประทานขนมขบเคี้ยว ความมันของอาหารและมือที่เปื้อนเศษอาหาร จะทำให้บังคับพวงมาลัยไม่ถนัด จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถ แต่งหน้า สุภาพสตรีมักแต่งหน้าหรือหวีผมขณะขับรถ หากสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมดังกล่าว อาจเผลอปล่อยเบรกหรือเหยียบคันเร่ง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ พาเด็กโดยสารรถไปด้วยตามลำพัง ทำให้ผู้ขับขี่ต้องคอยสังเกตและระแวดระวังเด็ก ซึ่งอาจซุกซน จึงต้องละสายตาและเอื้อมมือไปดูแลเด็กเป็นระยะ โดยเฉพาะผู้โดยสารที่มีอายุน้อย จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น อุ้มเด็กนั่งตักขับรถ ทำให้ผู้ขับขี่บังคับพวงมาลัยไม่ถนัดและต้องละสายตาจากถนนเป็นระยะ อีกทั้งเด็กอาจนั่งบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง หากเด็กซุกซนหมุนหรือแย่งพวงมาลัย เปลี่ยนคันเกียร์เล่น จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นำสัตว์เลี้ยงโดยสารรถ สัตว์เลี้ยงมักไม่อยู่นิ่ง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมตื่นตกใจง่าย หากพบเห็นสิ่งผิดปกติอาจกระโจนใส่ผู้ขับขี่ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดูโทรทัศน์ ชมภาพยนตร์ แสงสว่าง เสียงและภาพที่เคลื่อนไหวจะดึงดูดผู้ขับขี่ให้ละสายตาจากถนนมาอยู่ที่จอโทรทัศน์ ทำให้มีความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกลดลงและรบกวนสมาธิในการขับรถได้ ฟังเพลง สมาธิของผู้ขับขี่อยู่กับเนื้อเพลงและจังหวะเพลง หากเปิดเพลงที่มีจังหวะเร็ว ผู้ขับขี่อาจ โยกตัวไปตามจังหวะเพลงและปล่อยมือจากพวงมาลัย รวมถึงการเปิดเพลงเสียงดัง จะทำให้ผู้ขับขี่ไม่ได้ยินเสียงผิดปกติของรถและ เสียงบีบแตรของรถคันอื่น เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจึงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ มองป้ายโฆษณาริมข้างทาง หากขับรถด้วยความเร็วสูง แม้จะมองป้ายโฆษณาในระยะเวลาเพียงชั่วครู่ ก็ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ สูบบุหรี่ ผู้ขับขี่จะจดจ่อกับบุหรี่ จนขาดสมาธิในการขับรถ อีกทั้งต้องใช้มือในการจุดไฟและคีบบุหรี่ ทำให้เหลือมือบังคับพวงมาลัยเพียงข้างเดียว หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน ค้นหาหรือหยิบสิ่งของ ทำให้ต้องเอื้อมมือ เอี้ยวตัวและละสายตา จนอาจเผลอปล่อยพวงมาลัย เหยียบคันเร่ง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ควรมีสมาธิในการขับรถ หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมหรือใช้อุปกรณ์อื่นใดที่ต้องละสายตาจากเส้นทางหรือปล่อยมือจากพวงมาลัย จะช่วยลด ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ