ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกความภูมิใจ ของด็อกเตอร์ไทย สร้างคน สร้างชาติ

ข่าวทั่วไป Wednesday August 27, 2014 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--สกว. ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกเปิดเผยว่า โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก หรือ คปก.ดำเนินการภายใต้การกำกับดูของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือ สกว. ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2539 โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้สกว.ได้รับมอบหมายให้บริหารโครงการโดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สาเหตุสำคัญที่ คปก. ได้รับการริเริ่มขึ้น เนื่องจากพบว่า ประเทศไทยขาดแคลนนักวิจัยอย่างรุนแรงทำให้ระบบวิจัยของประเทศอ่อนแอมาก ทั้งนี้การวิจัยถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ โดยจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนนักวิจัย เพียง 9 คนต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วมีจำนวนนักวิจัยมากกว่าประเทศไทย 10 เท่า ดังนั้น คปก. จึงมีบทบาทและหน้าที่หลักในการเพิ่มจำนวนนักวิจัยระดับปริญญาเอก สร้างความเข้มแข็งให้ระบบงานวิจัย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีเป้าหมายที่จะผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอกคุณภาพสูงในจำนวนที่มากพอ ที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ ในด้านการวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรม “ชื่อโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกหรือ คปก. เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานนามให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชฯครบ 50ปีนับได้ว่าเป็นที่สุดแห่งความภาคภูมิใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่ได้รับทุนทุกคน” ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนากล่าวและว่า การดำเนินโครงคปก.มีเป้าหมายที่จะผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอก จำนวน 5,000 คน ภายใน 15 ปี ในระยะที่ 1 และหากการดำเนินการในระยะที่ 1 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จะให้ดำเนินการในระยะที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายที่ จะผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอกจำนวน 20,000 คน ภายในเวลา 15 ปีทั้งนี้ นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 ถึงปัจจุบัน คปก. สามารถผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศกว่า 2,300คนนับได้ว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากขาดงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์และยอมรับในระดับสากลมากกว่า 5,700 เรื่อง ซึ่งนับได้ว่ามีผลสำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เนื่องจากคุณภาพของอาจารย์และนักศึกษาที่เข้าสู่โครงการมีคุณภาพสูงมากมีความร่วมมือกับอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศที่มีคุณภาพกว่า 2,700 คน จาก 45 ประเทศ ศ.ดร.อมเรศกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา คปก. ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการเพื่อสร้างขบวนการให้เกิดความร่วมมือ และบรรยากาศในการทำงานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษามาอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดจะมีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการครั้งพิเศษ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ครั้งที่ 100 (RGJ Seminar Series C) เรื่อง “จากดุษฎีบัณฑิต คปก. สู่อาจารย์ที่ปรึกษา คปก.” (Second Generation of RGJ-Ph.D. Advisors). ถือเป็นการประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก หรือ คปก. ได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ คปก.ยังมีแนวคิดที่สำคัญคือการพัฒนาคนให้ดีนั้นไม่ใช่แค่ส่งเสริมทางด้านความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมสนับสนุนในทุกมิติทั้งการดำรงชีวิต ความคิด เพื่อให้เป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพ จึงจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านวิชาการ การประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงกิจกรรมด้านสังคม โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยต่อสังคมไทย “อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ คปก. คือนักศึกษาปริญญาเอกที่จบการศึกษา เป็นดุษฎีบัณฑิต คปก. ได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ดูแล และคอยช่วยเหลือนักศึกษารุ่นน้องต่อไป ปัจจุบันมีทายาทรุ่นที่ 2ของ คปก. อยู่เกินกว่า 60 คนแล้วเรียกว่าจากลูกไก่สู่แม่ไก่แล้ว” ศ.ดร.อมเรศกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ความภาคภูมิใจสูงสุดของโครงการปริญญาเอกาญจนาภิเษก หรือ คปก.คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบุคลากรวิจัย การพัฒนาวงการวิจัย และสามารถต่อยอดสู่การพัฒนา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศให้ยั่งยืนสืบไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ