ปภ. สรุปช่วงวันที่ 26 ส.ค. – ปัจจุบัน เกิดอุทกภัย 29 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 25 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 4 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Thursday September 11, 2014 13:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2557 ถึงปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 29 จังหวัด 77 อำเภอ 204 ตำบล 826 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,374 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 12 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 25 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัด 15 อำเภอ 75 ตำบล 372 หมู่บ้าน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ และพิษณุโลก ขณะที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 2 อำเภอ ซึ่งปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมเร่งตรวจสอบและสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2557 ถึงปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 29 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เลย เชียงใหม่ อุดรธานี อ่างทอง อุตรดิตถ์ หนองคาย มหาสารคาม พะเยา นครราชสีมา ชัยภูมิ น่าน จันทบุรี แพร่ สระแก้ว ตราด ตาก เชียงราย สุโขทัย นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก รวม 77 อำเภอ 204 ตำบล 826 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,374 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 12 ราย (กำแพงเพชร แม่ฮ่องสอน เชียงราย สุโขทัย จังหวัดละ 2 ราย นครศรีธรรมราช พะเยา แพร่ ตราด จังหวัดละ 1 ราย ) ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 25 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัด 15 อำเภอ 75 ตำบล 372 หมู่บ้าน ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ และพิษณุโลก โดยจังหวัดสุโขทัย ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้มวลน้ำจากต้นน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำยมจนน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ประกอบกับพนังกั้นลำน้ำยมในอำเภอเมืองสุโขทัยแตก ส่งผลให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอศรีนคร อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอศรีสำโรง อำเภอสวรรคโลก อำเภอกงไกรลาศ และอำเภอคีรีมาศ รวม 50 ตำบล 266 หมู่บ้าน 14 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,493 ครัวเรือน 23,579 คน พื้นที่การเกษตร 13,437 ไร่ ถนน 37 สาย คอสะพาน 2 แห่ง ท่อระบายน้ำ 35 แห่ง คลองระบายน้ำ 15 แห่ง บ่อปลา 4 บ่อ ผู้เสียชีวิต 2 ราย ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรในอำเภอกงไกรลาศได้รับมวลน้ำมาจากต้นน้ำ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สถานการณ์ในภาพรวมเริ่มคลี่คลาย หากไม่มีฝนตกบริเวณภาคเหนือตอนบน คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้ จังหวัดนครสวรรค์ น้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองบัวและอำเภอท่าตะโก รวม 5 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 45 ครัวเรือน สถานการณ์ปัจจุบัน อำเภอหนองบัว ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่อำเภอท่าตะโกและอำเภอชุมแสง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากน้ำจากอำเภอหนองบัวไหลมาสมทบ จังหวัดพิจิตร น้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ 10 ตำบล 51 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,113 ครัวเรือน 3,573 คน พื้นที่การเกษตร 1,864 ไร่ สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ทางการเกษตรใน 3 อำเภอ รวม 7 ตำบล 33 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และอำเภอสามง่าม จังหวัดพิษณุโลก น้ำจากจังหวัดสุโขทัยไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพรหมพิรามและอำเภอบางกระทุ่ม รวม 13 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,682 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 73,570 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ภัย ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น จนน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา และอำเภอผักไห่ รวม 8 ตำบล 31 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,314 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว จังหวัดภูเก็ต ฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอถลาง และอำเภอเมืองภูเก็ต บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 10 หลัง บาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จังหวัดเพชรบูรณ์ น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอหล่มสัก ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ อีกทั้งตรวจสอบและสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณประโยชน์ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ