ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวนชี้ รูปแบบการพัฒนา Digital Economy ต้องมีมากกว่า e-Transaction

ข่าวทั่วไป Monday September 22, 2014 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--กระทรวงไอซีที ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักบนพื้นฐานของ Digital Economy หรือหลักเศรษฐกิจดิจิตอล โดยจะมีการพัฒนาให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งหลังจากการแถลงนโยบายดังกล่าวก็ได้รับเสียงตอบรับจากหลายกระทรวง และล่าสุดมีการพูดคุยถึงการเปลี่ยนชื่อของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอซีที (ICT) เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนานี้เลยทีเดียว รูปแบบและความเป็น “เศรษฐกิจดิจิตอล” นั้นมีความหมายที่แตกต่างกันในแต่ละบริบท โดยพื้นฐานความหมายของดิจิตอลอีโคโนมี่นั้นคือการนำเอาเทคโนโลยีที่เป็นดิจิตอล รวมถึงเทคโนโลยีบนพื้นฐานของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นมาใช้เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจ โดยมีการใช้สลับกันไปกับ “Internet Economy” และมีส่วนที่สอดคล้องกับ “New Economy” หรือเศรษฐกิจใหม่ แต่หากพิจารณาจากการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ในประเทศเพื่อนบ้านแล้วคำจำกัดความเหล่านี้ล้วนมีแนวทางที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมไอซีทีอาวุโส บริษัทฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก ได้กล่าวถึงความหมายของเศรษฐกิจดิจิตอลว่า “หากพิจาณาดูจากเศรษฐกิจดิจิตอลในต่างประเทศที่เห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมจับต้องได้แล้วเราจะเห็นว่าแก่นของแนวทางเหล่านี้ อยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้ แทนที่อาศัยกำลังการผลิตหรือมูลค่าของการบริการเพียงอย่างเดียว โดยมีเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะสื่อกลางและเป็นสินค้าที่ถูกส่งมอบ ส่วนแนวทางการพัฒนานั้นควรเป็นไปอย่างควบคู่กันทั้งการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และนำมาใช้สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความตื่นตัวในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ (eCommerce) และการนำเอาระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิคส์ (eTransaction) เข้ามาใช้ แต่เศรษฐกิจดิจิตอลนั้นเป็นการพัฒนาที่กว้างกว่ามาก” เศรษฐกิจดิจิตอลนั้นมีมูลค่ามหาศาล ตลาดการค้าขายออนไลน์หรือ eCommerce ของไทยในปัจจุบันมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งยังไม่นับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มาจากการใช้เทคโนโลยีในการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลนั้นจึงนิมิตหมายที่ดีต่อการพัฒนาประเทศ แต่อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายอีกไม่น้อยที่รัฐบาลและประชาชนต้องก้าวข้าม “ การเร่งสร้างการเข้าถึง คือความท้าทายประการแรกบนแนวทางเศรษฐกิจดิจิตอล ในปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยจะมีกระแสการตอบรับเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และตลาดไอซีทีมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่อัตราการเข้าถึงระบบเครือข่ายการสื่อสารนั้นยังต้องพัฒนาอีกมาก โดยในปัจจุบันการเข้าถึงบอร์ดแบนด์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยนั้นยังมีระดับต่ำเพียง 25% จากจำนวนครัวเรื่อนทั้งหมด และแม้ว่าจะมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศที่สูงราว 144% เมื่อเทียบกับประชากรในประเทศ แต่จากในจำนวนนี้มีเพียง 34% โดยเฉลี่ยที่เป็นสมาร์ทโฟนและสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ และแม้ว่าการนโยบายบอร์ดแบนด์แห่งชาตินั้นจะเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ แต่การพัฒนาและอัตราการเข้าถึงยังต้องได้รับการเร่งพัฒนาหากต้องการจะเห็นเศรษฐกิจดิจิตอลที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทย” ธีระ กล่าว นอกจากนี้นายธีระยังชี้แจงให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิตอลนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่วนของสังคม “สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องการสร้าง ‘ความเข้าใจ’ ในเรื่องบทบาทและสิทธิของตนบนในระบบนิเวศน์เศรษฐกิจดิจิตอลให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน กรณีความผิดพลาดหรือการฟ้องร้องระหว่างผู้บริโภคและผู้ให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์หรือ eCommerce นั้นเป็นตัวอย่างที่ดี เช่น ความผิดพลาดของผู้ใช้งานเกมส์หรือแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือทำให้ถูกส่งใบแจ้งหนี้จำนวนมหาศาล หรือกรณีความผิดพลาดในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้เกิดการฟ้องร้องขอเงินคืนนั้น แม้ว่าในทางสังคมจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่หากว่าประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจว่าความผิดพลาดจากความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการทำธุรกรรมออนไลน์นั้น ก็มีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมในการค้าขายจริง ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลค่าเป็นตัวเงินจริง ซึ่งการฟ้องร้องขอคืนค่าใช้จ่าย หรือยกเลิกธุรกรรมที่ตกลงไปแล้ว ด้วยการขอความเห็นใจหรือใช้แรงกดดันทางสังคมนั้นไม่อาจทำได้” “ความท้าทายในภาคส่วนของรัฐบาลบนโรดแมปเศรษฐกิจดิจิตอลคือการขับเคลื่อนแบบบูรณการ เพราะก้าวแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลนั้นคือการหาช่องว่างที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเสริมสร้างประสิทธิภาพ พร้อมกับสร้างสรรค์โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังนั้นกระทรวงและหน่วยงานที่กำกับดูแลเทคโนโลยีนวัตกรรมจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการวางกลยุทธ์ให้เป็นการขับเคลื่อนแบบองค์รวม ซึ่งที่ผ่านมาการจัดสรรค์งบประมาณหรือวางแผนโครงการต่างๆของไทยเองยังขึ้นอยู่กับกระทรวงต่างๆที่เป็นเจ้าภาพ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจึงยังคงมุ่งเน้นในระดับปฏิบัติการ หากแต่ยังขาดความร่วมมือในระดับกลยุทธ์ ดังนั้นนอกจากการเร่งสร้างเครือข่ายการเข้าถึง และสร้างความเข้าใจในบทบาทใหม่ของเศรษฐกิจดิจิตอลแล้ว ในภาครัฐเองก็ต้องมีการพัฒนาเชิงรุกในแบบบูรณาการอีกด้วย” สุดท้ายนี้นายธีระได้ให้ความเห็นถึงการที่กระทรวงไอซีทีนั้นมีความเห็นในเรื่องการเปลี่ยนชื่อกระทรวงเพื่อสอดรับกับนโยบายว่าเป็นเพียงการเริ่มต้น สำหรับผลกระทบยังคงต้องดูกันต่อไป “กระทรวงไอซีทีนั้นจะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขับเคลื่อนบนเศรษฐกิจดิจิตอล การเปลี่ยนชื่อกระทรวงเพื่อให้สอดรับกับนโยบายนี้ก็เป็นการตอบรับที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือบทบาทหน้าที่ของกระทรวงว่าจะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนนั้นๆ” ธีระเสริม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ