มทร. ธัญบุรี ส่งนักศึกษา อบรมการเป็นผู้นำ ที่มาเลเซีย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 24, 2014 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ส่งตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ Borneo Youth Leadership Conference (BYLC) 2014 ณ Curtin University Sarawak Malaysia ประเทศมาเลเซีย เพื่อเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำที่ดี และเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมกันจากตัวแทนของประเทศต่าง ๆ โป้ง – อภิสิทธิ์ เกตุสะอาด นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาการท่องเที่ยว หนึ่งในผู้เข้าร่วม เล่าว่า ตนชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และอยากลองทดสอบทักษะภาษาอังกฤษของตนเอง เพราะการเข้าร่วมโครงการนี้ ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การกรอกใบสมัคร การสอบสัมภาษณ์ และอยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการใช้ภาษาอังกฤษ ในโครงการมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันมากมาย หนึ่งในกิจกรรมที่ประทับใจ คือ การโชว์ศิลปะแม่ไม้มวยไทยในช่วง Closing Dinner ตัวแทนจากหลาย ๆ ประเทศต่างให้ความสนใจและขอถ่ายรูปกันมาก นี่คือหนึ่งในศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทยที่เป็นเอกลักษณ์ รู้สึกดีใจที่ได้ถ่ายทอดออกมา ส่วนความประทับใจที่เกิดขึ้น คือ ตัวแทนแต่ละประเทศที่เข้าร่วมในครั้งนี้ รวมถึงประเทศเจ้าภาพ ต่างยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ถือตัวและไม่ดูถูกกัน และผู้คนมาเลเซียส่วนใหญ่จะยอมรับฟังความคิดเห็นของทุก ๆ คน หากทำผิด เช่น พูดผิด เขียนผิด หรือทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง พวกเขาจะไม่หัวเราะ ไม่ซ้ำเติมหรือตอกย้ำ และจากที่เห็น ความสัมพันธ์ภายในห้องเรียนของพวกเขา อาจจะดูน้อยกว่าของเรา เพราะพวกเขาตั้งใจเรียนจริงจัง ไม่ค่อยเห็นคุยหรือเล่นกัน ถือเป็นความแตกต่างจากจุดนี้ทำให้ผมมองกลับมายังประเทศของเรา รู้สึกว่ายังแตกต่างจากพวกเขามากมาย ประสบการณ์การเข้าร่วมครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าทักษะภาษาอังกฤษของบ้านเรายังคงต้องได้รับการพัฒนาและฝึกฝนเป็นอย่างมาก รวมถึงการสั่งสมประสบการณ์ดังเช่นที่ผมได้รับจากโครงการดังกล่าวนี้ แพร – วนาลี ปานใจ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ เล่าว่า เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะอยากมีประสบการณ์ในการสนทนาภาษาอังกฤษ และอยากที่จะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเพื่อนชาวต่างชาติ ขณะเข้าร่วม โดยส่วนตัวรู้สึกชอบกิจกรรม Workshop Activities ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้คนเข้าร่วมโครงการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ แล้วออกมานำเสนอ เพื่อนทุกคนมีความเป็นมิตร อัธยาศัยดี ต่างมีรอยยิ้มให้แก่กันเวลาสื่อสาร รวมถึงเพื่อน ๆ จากมทร.ธัญบุรีที่ไปด้วยกัน แม้จะต่างคณะ แต่ก็ให้ความช่วยเหลือและเกื้อกูลระหว่างกันดี ต้องขอบคุณทางมหาวิทยาลัยที่เห็นความสำคัญของโครงการนี้ ที่ทำให้ดิฉันได้ตระหนักถึงความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ การอบรมการเป็นผู้นำครั้งนี้สามารถนำมาใช้ในการทำงานที่สโมสรนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจได้เป็นอย่างมาก เพราะได้เห็นหลักคิดและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกับผู้คนจำนวนมาก ส้ม – รังสิตา จันทร์หอม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ เล่าว่า โครงการนี้สร้างองค์ความรู้อันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับภาวะความเป็นผู้นำ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมเพราะอยากดึงศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่ออก และต้องการที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับคณะฯ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเพื่อน ๆ น้อง ๆ หลายคนมีศักยภาพ แต่ขาดความมั่นใจ ความกล้าแสดงออก การมาเข้าร่วมนี้จะทำให้เรามีความกล้ามากขึ้นและได้ฝึกทักษะทั้งความเป็นผู้นำและภาษาอังกฤษ และในคืนวันสุดท้ายก่อนกลับ ได้โชว์การแสดงรำไทยร่วมกับเพื่อน ๆ ผลตอบรับรู้สึกเกินความคาดหวังมาก เพื่อนต่างชาติให้ความสนใจในศิลปะแขนงนี้มาก ได้รับความชื่นชมและเสียงปรบมือมากมาย อีกหนึ่งสิ่งที่อยากเล่าให้ฟัง นั่นคือ มิตรภาพที่ได้รับในครั้งนี้จากหลาย ๆ ประเทศ สานสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้คงต่อยอดในเรื่องภาษา ศิลปวัฒนธรรมและการบอกเล่าเรื่องราวดี ๆ ต่อไปในอนาคต ประสบการณ์ดี ๆ ในครั้งนี้ ทำให้ได้ท่องเที่ยว ณ ที่แห่งใหม่ ได้ฝึกภาษาที่เราไม่ได้ใช้บ่อย ได้ลิ้มรสอาหารที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งทั้งหมดนี้หล่อหลอมให้เรารู้จักฝึกอดทน ความกล้าแสดงออก และการรู้จักปรับตัว แม้ประเทศมาเลเซียจะมีภูมิประเทศที่สวยงาม บ้านเมืองมีความเป็นระเบียบ แต่ก็คิดถึงประเทศไทยไม่ได้ โดยเฉพาะอาหารไทย ปาล์ม – สิขเรศ พดุงญาติ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ สาขาการท่องเที่ยว เล่าว่า อยากแลกเปลี่ยนทักษะภาษาอังกฤษ และศิลปวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นผู้นำจึงมาสมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อน ๆ ทุกคนที่เข้าร่วมมีความเป็นมิตรภาพสูง และพูดภาษาเก่งมาก ๆ เข้าใจว่าผ่านการคัดเลือกมาดี และได้ร่วมแสดงศิลปะแม่ไม้มวยไทยกับเพื่อน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างชาติรู้จักและให้ความสนใจมาก สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมในครั้งนี้ คือ องค์ความรู้ในเรื่องภาษาอังกฤษ ทั้งการฟัง การพูด การเขียน รวมถึงทักษะการสื่อสาร นอกจากนี้ยังจุดประกายความคิดให้หันมองที่บ้านของเรา โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เพราะที่ประเทศมาเลเซียมีวิธีการเรียนการสอนในลักษณะที่แตกต่างจากบ้านเราและน่าสนใจ เพราะในหนึ่งคาบเรียน ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง อาจารย์จะสอน 1 ชั่วโมงและเปิดโอกาสให้ถามตอบกัน 30 นาที ซึ่งนักศึกษาต่างก็ผลัดกันถามตอบมากมาย ณ จุดนี้จะช่วยเติมเต็มความรู้มากยิ่งขึ้น มากกว่าเรียนรู้แบบเดิม ๆ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง เสริมสร้างความเป็นผู้นำที่ดี และเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมกันจากตัวแทนของประเทศต่าง ๆ โดยมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ