โครงการ ‘ผึ้ง ทุนธรรมชาติ’ สร้างสรรค์อาหารกลางวัน เพื่อโภชนาการที่ดีและสุขภาพแข็งแรง

ข่าวทั่วไป Monday September 29, 2014 12:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กลุ่มปาล์มธรรมชาติ เนื่องจากปัญหาความยากจนและความทุกข์ยากของราษฎรในถิ่นทุรกันดารห่างไกลคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนมักจะขาดแคลนอาหารจากการผลิตที่ไม่พอเพียงและการบริโภคไม่ถูกต้อง ทำให้เยาวชนในพื้นที่ดังกล่าวเติบโตอย่างไม่มีคุณภาพร่างกายอ่อนแอ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสหรืออยู่ในถิ่นทุรกันดารให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยทรงเล็งเห็นว่าการพัฒนาจะนำไปสู่การเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ทั้งร่างกายสติปัญญาและอารมณ์ ได้อย่างเต็มศักยภาพทำให้เด็กเติบโตอย่างคนมีคุณภาพเป็นกำลังที่จะช่วยพัฒนาชุมชนของตนเองและประเทศชาติต่อไป ทรงเริ่มต้นจากการดำเนินงานในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและขยายผลต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามโดยมุ่งเน้นให้นักเรียน ครู และผู้ปกครอง ร่วมทำการเกษตรในโรงเรียน และนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวัน ซึ่งนอกจากช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันแล้ว ยังทำให้นักเรียนได้รับความรู้ด้านโภชนาการและด้านการเกษตรแผนใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพต่อไป บริษัท กลุ่มปาล์มธรรมชาติ จำกัด โดยน้ำมันปาล์มตรา ‘ผึ้ง’ กรอบอร่อยได้คุณค่า เพื่อโภชนาการที่ดีได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดชุมพร จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ โครงการ ‘ผึ้งทุนธรรมชาติ’ เพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน เพื่อเผยแพร่และรณรงค์ให้เยาวชนระหว่างระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 มีโอกาสใช้ความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ริเริ่มแผนงานและแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการที่ดีสำหรับโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนของตน โดยเลือกใช้ทุนธรรมชาติและทรัพยากรอื่นๆ ในพื้นที่รอบๆ โรงเรียน ซึ่งหมายถึง ดิน, น้ำ, อากาศ, ต้นไม้ และสัตว์ ที่อยู่รอบๆ ในท้องถิ่นของตนมาปรับใช้และจัดการให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด ธิดารัตน์ ควรทรงธรรม กรรมการบริษัท กลุ่มปาล์มธรรมชาติ จำกัด กล่าวว่า ด้วยนโยบายหลักของบริษัทที่ยึดมั่นมาโดยตลอดคือ เมื่อประกอบธุรกิจแล้วต้องกลับคืนสู่สังคม รวมทั้งต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย และในวันนี้ทางเราได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาเป็นปีแรก ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการในปีแรกนี้จะเป็นการจุดประกายทั้งแนวคิดและแนวทางปฏิบัติให้โรงเรียนในจังหวัดอื่นๆ นำไปปรับใช้ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย เราอยากเห็นการมีส่วนร่วมและการทำประโยชน์ร่วมกันในสังคม เริ่มได้จากครอบครัว โรงเรียน และชุมชนของพวกเขาเอง “เรื่องการคืนสู่สังคม บริษัทได้ทำมาเป็นประจำอยู่แล้ว ในเรื่องของการให้ทุนการศึกษาเด็กในชุมพร สำหรับปีนี้จัด โครงการ‘ผึ้งทุนธรรมชาติ’ เพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนและครูมีส่วนร่วมในโครงการเรียนรู้ และปฏิบัติร่วมกันในระยะยาวและยั่งยืนได้ซึ่งเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะสร้างคุณค่าและประโยชน์ส่วนรวมได้จริงในโรงเรียนและชุมชนของผู้เข้าร่วมโครงการ ที่เด็กๆ สามารถได้ฝึกฝนการเรียนรู้ การปรับตัว การลงมือทำ และการจัดการทุนธรรมชาติในพื้นที่รอบๆ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นทุนให้โรงเรียนนำไปต่อยอดสำหรับการจัดการโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนในระยะยาวได้ และที่สำคัญ นักเรียน ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการได้มีส่วนร่วมก่อเกิดประโยชน์เพื่อชุมชนและสังคมรอบข้างให้ดีขึ้น ในเรื่องของสุขภาพ โภชนาการ การเกษตรอย่างพอเพียง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ปัญจภรณ์ ไกรวิลาศ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการผู้ดูแลเรื่องโภชนาการโรงเรียน จังหวัดชุมพร กล่าวว่า “โครงการ ‘ผึ้ง ทุนธรรมชาติ’ อาหารกลางวันในโรงเรียน เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะเด็กและเยาวชนได้มีหลักการโภชนาการที่ดีและมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งทางหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ทำกันอยู่แล้ว คือ เรารณรงค์เรื่องการอ้วน ต้องลดหวาน มัน เค็ม และจะเห็นว่าเด็กๆ กินผักกันน้อยมาก จึงอยากจะรณรงค์เรื่องนี้ให้มาก โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ไปหาจุดใหญ่ คือ อาจจะจัดประกวดเขียนเรียงความกินผักมีประโยชน์อย่างไร หรือจะแข่งขันการกินผักก็ได้” โดยโครงการนี้เป็นการจัดประกวดโครงการ ‘ผึ้งทุนธรรมชาติ’ อาหารกลางวันในโรงเรียน จังหวัดชุมพร มีโรงเรียนต่างๆ ส่งผลงานโครงการเกษตรอย่างเพียงพอ เพื่ออาหารกลางวัน เข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้มากมาย และโรงเรียนที่ได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสู่รอบชิงชนะเลิศ ในแนวความคิดสร้างสรรค์ในการบริหารจัดการแผนงานตามแนวคิด ‘ทุนธรรมชาติ’ อย่างชาญฉลาดและสร้างสรรค์และสามารถนำไปปรับใช้และปฏิบัติได้จริง ทั้งสะท้อนการทำงานเป็นทีมอย่างเป็นระบบ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต อาหารและโภชนาการที่ดีของกิจกรรมอาหารกลางวันในโรงเรียนได้อย่างดีได้แก่ โครงการ ‘เกษตรอินทรีย์สู่วิถีพระราชดำริ’ โรงเรียนบ้านน้ำฉา/ โครงการ ‘โครงการอาหารกลางวันโรงเรียน’ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนสามัคคี / โครงการ ‘เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน’ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเหมืองและ โครงการ ‘โรงเรียนพัฒนศึกษา โรงเรียนวิถีพอเพียง’ โรงเรียนพัฒนศึกษา หลังจากนั้นบริษัท กลุ่มปาล์มธรรมชาติ จำกัด โดยผู้บริหารและทีมงาน พร้อมตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขจังหวัดชุมพร และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมโครงการ ‘ผึ้งทุนธรรมชาติ’ อาหารกลางวัน กับน้องๆ ที่เข้ารอบร่วมกับคุณครูที่ปรึกษา โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนบ้านน้ำฉา โดยมี ด.ต.เสถียร ดีทอง เป็นครูที่ปรึกษา และ ศศิกานต์ วีระวงศ์ อายุ 12 ปี ชั้น ป.6 นำเสนอโครงการว่า- - “เป็นโครงการที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง นักเรียนทุกคนจะช่วยกันดูแลช่วงเช้าและเย็นหมุนเวียนกันไปตามฐานแปลงต่างๆ เราช่วยกันปลูกพืชผักสวนครัว มีมากมาย ผักปูเล่ย์ ผักกาด ผักกวางตุ้ง พริก บวบ ถั่วฟักยาว เยอะแยะค่ะ แล้วแต่ฤดูกาลค่ะ แล้วยังเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา พอถึงเวลาก็เก็บมาทำอาหารกลางวันในโรงเรียน ส่วนที่เหลือก็นำไปขาย ไปขายที่ตลาดบ้าง ขายผู้ปกครองบ้าง ...การทำโครงการตรงนี้ดี ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติม เราก็นำกลับไปทำที่บ้าน หรือไปบอกวิธีการให้กับคนอื่นๆ ที่ไม่รู้ก็ได้ค่ะ” ส่วน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนสามัคคี น้องๆ แต่ละคนต่างมีความสามัคคีกันถ้วนหน้า แม้ฝนจะโปรยปรายลงมา ก็ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ช่วยกันหยิบโน่นจับนี่ รดน้ำพรวนดินกันอย่างสนุกสนาน เพราะคุณครูที่ปรึกษาโครงการ จ.ส.ต.สมโภชน์ จันทวัง คอยให้คำแนะนำและเติมเต็มความรู้ให้แก่เด็กๆ ตลอดเวลา และหัวหน้าทีมนักเรียน ภัทรพล สังข์ปล้อง อายุ 12 ปี ชั้น ป.6 กำลังขะมักเขม้นอยู่ในเรือนผักไฮโดรโปนิกส์ เล่าว่า-- “ต้องรับผิดชอบหน้าที่ของเรา และเพื่อนๆ ก็ช่วยกันด้วยครับ โดยต้องหมั่นดูแลแปลงผักทุกวันเช้าและเย็น ไล่แมลงด้วย แต่ผักที่นี่ปลูกโดยยึดหลักปลอดสารเคมีทั้งหมดครับ ...การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เริ่มจาก 3 – 4 เพาะจากเมล็ดเป็นต้นกล้า แล้วจึงนำมาปลูก อีกไม่กี่วันเมื่อโตเต็มที่ก็เก็บไปทำอาหารกลางวันได้แล้วครับ ถ้าวันไหนมีมากก็ไปขาย เพื่อนำไปเป็นทุนให้กับโรงเรียน ซึ่งการได้มาทำตรงนี้ได้ประโยชน์มาก เราก็สามารถนำไปต่อยอดทำสวนผักที่บ้าน ทำให้มีรายได้เสริมให้กับครอบครัวอีกด้วยครับ” มาถึง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเหมือง โดยมี ร.ต.อ.กรวิช ทองทราย เป็นทั้งครูใหญ่และครูที่ปรึกษาโครงการ และ สิปปวิชญ์ มณีรัตน์ หนุ่มน้อยแก้มใส วัย 11 ปี บอกเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า- - “ผมกับเพื่อนๆ มีหน้าที่เลี้ยงปลาครับ ให้อาหารเช้าและบ่าย ล้างบ่อปลา ที่นี่มีทั้งบ่อปลาดุก ปลานิล ปลาช่อน และปลาตะเพียน มีหลากหลายชนิดเลยครับ เวลา ปล่อยปลาทีละห้าพันตัวบ้าง สองพันตัวบ้าง พอสักเดือนนึงก็ใช้การได้แล้วครับ เอาไปทำอาหารบ้าง ขายบ้าง ได้เงินมาก็เอาไปเข้าบัญชีสหกรณ์ของโรงเรียน ...สิ่งที่ได้ทำ ทำให้ได้เรียนรู้ มีความรู้เพิ่มขึ้น เราสามารถเอาไปคิดดัดแปลงทำให้ที่บ้านได้ครับ” และโรงเรียนพัฒนศึกษา มีคุณครู มาณวิกา เสรีทัพพ์ เป็นที่ปรึกษา และ นัฐพงษ์ นิสัยเหมาะ อายุ 15 ปี ชั้น ม.3 เป็นผู้นำเสนอผลงาน เล่าว่า-- “ผมรับผิดชอบโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าครับ สำหรับมัธยมต้นโครงการตรงนี้ จะเป็นเรื่องของโครงงานที่อยู่ในบทเรียน โดยจะเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรแบบพอเพียง ...เห็ดนี้เป็นเห็ดนางฟ้าภูฏาน ตอนนี้มีจำนวน 500 ก้อน ซึ่งจะมีถุงพลาสติกห่อไว้ เวลารดน้ำก็จะรดน้ำไปทั้งถุงเลย เพราะเห็ดที่เพาะจะต้องการแค่ความชื้นเท่านั้นในการสร้างการเจริญเติบโต เมื่อโตได้ที่ดีแล้วก็จะนำผลผลิตมาทำอาหารกลางวัน ส่วนหนึ่งก็นำไปขายได้ ผมว่าโครงการนี้ดี ทำให้เราได้เรียนรู้ ทั้งยังได้ฝึกเป็นอาชีพได้อีกด้วย” โครงการนี้ เป็นการเพิ่มคุณค่าและประโยชน์ส่วนรวมได้จริง ทั้งในโรงเรียนและชุมชน ที่เด็กๆ สามารถได้ฝึกฝนการเรียนรู้ การปรับตัว การลงมือทำอย่างสร้างสรรค์ โดยทางคณะกรรมการได้ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ ดังนี้: - รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินสดสนับสนุนโครงการเป็นเงินจำนวน 50,000 พร้อมโล่รางวัลได้แก่ โครงการ ‘โครงการอาหารกลางวันโรงเรียน’ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านควนสามัคคี - รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้รับเงินสดสนับสนุนโครงการเป็นเงินจำนวน 30,000 พร้อมโล่รางวัลได้แก่ โครงการ ‘เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน’ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยเหมือง - รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้รับเงินสดสนับสนุนโครงการเป็นเงินจำนวน 20,000 พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ โครงการ ‘เกษตรอินทรีย์สู่วิถีพระราชดำริ’ โรงเรียนบ้านน้ำฉา และ รางวัลชมเชย 4 รางวัลๆ ละ 5,000 บาท ได้แก่ โครงการ ‘โรงเรียนพัฒนศึกษา โรงเรียนวิถีพอเพียง’ โรงเรียนพัฒนศึกษา / โครงการ ‘ศูนย์การเรียนรู้และปฎิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’โรงเรียนบ้านสะพานยูง / โครงการ ‘หนูน้อยผึ้งงานเพื่ออาหารกลางวันสานฝันความพอเพียง’โรงเรียนบ้านหนองปลาและ โครงการ ‘พี่นำ ทำให้น้องดู บูรณาการฐานการเรียนรู้สู่อาหารกลางวัน’ โรงเรียนบ้านคู “ในปีแรกนี้ เป็นจุดริเริ่มและจุดประกายความคิดสู่การลงมือทำ โดยโครงการนี้จะเป็นโครงการระยะยาว สำหรับโรงเรียนอื่นๆ ที่จะเข้ามาร่วมโครงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้กับเราในปีต่อๆ ไป แต่รูปแบบในแต่ละปีจะพัฒนา ปรับเปลี่ยน เพื่อให้ดีที่สุด และจะขยายส่วนร่วมมากขึ้น เพราะต้องการขยายแนวคิดของโครงการให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและวงกว้างขึ้น สู่พื้นที่หรือจังหวัดอื่นๆ ต่อไป” ธิดารัตน์ ควรทรงธรรม กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ