TCELS ลงนามร่วมมือ 2 มหาวิทยาลัยดังมน-มอ.พัฒนาเครื่องสำอางจากสารสกัดยางพาราครบวงจร

ข่าวทั่วไป Monday September 29, 2014 12:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--TCELS ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตรต์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มูลค่าการตลาดของไวเทนนิ่งในระดับเอเชียแปซิฟิก จะสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท ในปีหน้า เครื่องสำอางชะลอวัยจากสารสกัดยางพารา ที่มีครีมหน้าใส เจลล้างหน้า เซรั่มบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์บำรุงผม ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นสามารถเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการค้นพบและนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางแล้ว อีกทั้งการออกสู่ตลาดก็ได้รับการตอบรับดีมาก ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดยางพาราได้อย่างครบวงจร และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านชีววิทยาศาสตร์ในสาขาที่ขาดแคลน การจัดทำเครือข่ายฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เครื่องสำอาง ยา ชีววัตถุ ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการและพร้อมเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ร่วมกันอีกด้วย ผอ.TCELS กล่าวว่า สำหรับบทบาทการดำเนินการนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โดย ศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล ผู้วิจัยหลักและคณะ จะร่วมกันพัฒนาสารสกัดจากน้ำยางพารา ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตสารสกัดได้หลากหลายชนิด ตลอดจนการวิจัยพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพจากน้ำยางพาราจนได้เป็นผลิตภัณฑ์สารสกัด ที่ผลิตได้จนถึงระดับกี่งอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสามารถทดลองผลิตสูตร ตลอดจนมีบริษัทนำร่องทดลองตลาดอีกด้วย ส่วนมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหน้าที่ของสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติโดย รศ.ดร.เนติ วระนุช ผู้อำนวยการฯ และคณะ จะช่วยพัฒนาต่อยอดเข้าสู่กระบวนการผลิตสูตรตำรับ และยืนยันผลการศึกษาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ โดยศึกษาวิจัยในระดับคลินิกภายใต้วิธีการซึ่งได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ดร.นเรศ กล่าวว่า สำหรับ TCELS นอกจากจะเป็นหน่วยงานกระตุ้น ขับเคลื่อน สนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งการเสนอแนวคิดเพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการซึ่งเป็นโอกาสของประเทศแล้ว ยังช่วยด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นต้นแบบในงานด้านชีววิทยาศาสตร์ ที่จัดให้มีขึ้นตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ตลอดจนนำเสนอผลงาน ผลิตภัณฑ์ ในงานประชุมและแสดงนิทรรศการด้านชีววิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ นอกจากนี้ TCELS ยังมีบทบาทสำคัญในการขยายเครือข่ายความร่วมมืออย่างครบวงจร ได้แก่เปิดความร่วมมือทางธุรกิจ การลงทุน และการส่งเสริมทางการตลาด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นตามเส้นทางการผลิตเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนจำนวนมากต่อไป ผอ.TCELS กล่าวด้วยว่า เครื่องสำอางจากสารสกัดน้ำยางพารา เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ต่างประเทศแข่งขันกับเราไม่ได้ เราเป็นรายแรกและรายเดียวในขณะนี้ที่ทำได้เนื่องจากต้องใช้น้ำยางสด และประเทศไทยเองก็สามารถผลิตน้ำยางสดได้เป็นอันดับ 1 ของโลก จึงถือเป็นความลงตัวที่เป็นจุดแข็ง ขณะนี้ TCELS กำลังอยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจในส่วนที่นำมาสกัดเป็นเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่น ๆ เชื่อว่ามูลค่าใหม่ที่สร้างขึ้นนี้ในระยะยาวจะช่วยให้มีรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล และจะลดปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ขณะนี้ความสามารถในการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ คือผลิตได้เพียง 1% ของศักยภาพการผลิตทั้งประเทศ แต่กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชน และเมื่อมีการลงทุนพัฒนากระบวนการผลิตขนาดใหญ่ การผลิตก็จะทำได้มากขึ้น ส่วนการลงทุนนั้นอาจจะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือเป็นการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งหมด ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและความพร้อมของภาคเอกชนด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ