รุกเมืองเกษตรสีเขียว สศข.3 เดินหน้าฉลากคาร์บอนสินค้าข้าวจังหวัดหนองคาย

ข่าวทั่วไป Monday October 6, 2014 10:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 เร่งเครื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เกษตร ภายใต้โครงการเมืองเกษตรสีเขียว ชู ปี 57 ขับเคลื่อนโครงการและออกสลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในจังหวัดหนองคาย เผย เกษตรกรยังต้องการให้มีการส่งเสริมการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในสินค้าข้าวเช่นเดิมในทุกสายพันธ์ในของปี 58 นายฉัตรชัย เต้าทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่ สศข.3 ได้ดำเนินงานโครงการเมืองเกษตรสีเขียว(Green Agriculture City) พื้นที่จังหวัดหนองคาย นั้น สศข.3 ได้เห็นว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นประเด็นการค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศอาจจะต้องมีฉลากแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปริมาณใช้น้ำ ประกอบกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่จะมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ จึงจัดทำโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์สินค้าเกษตร โดยจะมีการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ของสินค้าเกษตรที่สำคัญ และส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสนใจและมีศักยภาพในการจัดทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จดทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์กับองค์การบริหารจัดการก๊าชเรือนกระจกด้วย ในเรื่องดังกล่าว สศข.3 ได้ดำเนินการจัดสัมมนาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐและกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งหมด 3 ครั้ง และทำการศึกษาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เกษตร ชนิดข้าวขาวดอกมะลิ 105 อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย เพื่อดำเนินการออกฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และสร้างความตระหนักรู้แก่เกษตรกร ซึ่งนับว่าได้ผลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้เกี่ยวข้อง และเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลวัฎจักรคาร์บอนของสินค้าข้าวของจังหวัดหนองคายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ผลการประเมินการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เกษตร ภายใต้โครงการเมืองเกษตรสีเขียว เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมแกรนด์ พาราไดซ์ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย พบว่า เกษตรกร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย มีความคิดเห็นว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เกษตร ภายใต้โครงการเมืองเกษตรสีเขียวมีประโยชน์ต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจของไทย และยังต้องการให้มีการส่งเสริมการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของปีถัดไปในสินค้าข้าวเช่นเดิม (ทุกสายพันธ์) มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 71 รองลงมา คือ ข้าวโพดหวาน ร้อยละ 10 ส่วนพืชอื่นได้แก่ อ้อย ยางพารา และสับปะรด ร้อยละ 19 ซึ่งนับว่าเกษตรกรนั้นให้ความสำคัญ และตื่นตัวต่อสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยต่อตนเองและผู้บริโภคมีสุขอนามัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งจะเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าและตลาดต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคตต่อไป นายฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ