ผนึกกำลังภาคีร่วมต้านแรงงานผิดกฎหมายภาคประมง หนุนขับเคลื่อนแผนแม่บทแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี GLP Roadmap

ข่าวทั่วไป Monday October 20, 2014 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมประมง ผนึกกำลังความร่วมมือครั้งใหญ่ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP Roadmap) เพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานในภาคประมง ทั้งในระดับสถานประกอบการแปรรูปกุ้ง และอาหารทะเลเบื้องต้น (ล้ง) โรงงานแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล ฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และเรือประมง ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตลอดสายการผลิต พร้อมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมประมงไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก วันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557 ณ โรงแรมบัดดี้โอเรียลทอล อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กรมประมง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมกุ้งไทย ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนการปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP Roadmap Workshop) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถานประกอบการกิจการได้นำแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี GLP ไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรมและ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมการประมงตลอดสายการผลิต ให้สามารถยกระดับสู่มาตรฐานกฎหมายแรงงานไทย และมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรม การประมงของไทย โดยในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง และนายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO-IPEC) และประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมดังกล่าว ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า อุตสาหกรรมการประมงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยสามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่า 250,000 ล้านบาทต่อปี และด้วยศักยภาพของอุตสาหกรรมภาคการประมงที่มีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความต้องการแรงงานอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ระดับฟาร์ม เรือประมง สถานประกอบการแปรรูปเบื้องต้น (ล้ง) และโรงงานแปรรูปอาหารทะเล โดยมีแรงงานทั้งระบบกว่า 2 ล้านคน ซึ่งกรมประมงในฐานะหน่วยงานภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับประเด็น การแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นอย่างยิ่ง โดยมีนโยบายที่จะเร่งรัดและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแรงงานภาคการประมงทั้งระบบให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคการประมง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในการจัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสภาพการทำงานในสถานประกอบการในภาคการประมงซึ่งมี GLP ทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ 1. สำหรับสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น 2. สำหรับโรงงานแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล 3. สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง และ 4 สำหรับเรือประมง ซึ่งได้ถูกพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องรวมถึงองค์กรเอกชน (NGO) องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และการสนับสนุนทางเทคนิคโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อธิบดีกรมประมง ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของ GLP ทั้ง 4 ฉบับ โดยในส่วนของ GLP สำหรับผู้ประกอบการแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล หลังจากที่ได้ลงนามแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมแนวปฏิบัติฯ ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2556 มีผู้ประกอบการประสงค์เข้าร่วมจำนวน 178 ราย และขณะนี้มีการดำเนินการที่คืบหน้าไปมาก โดยผู้ประกอบการดังกล่าวได้ผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว 81 ล้ง 73 โรงงาน รวมเป็น 154 ราย ซึ่งได้ผ่านระบบการติดตามการดำเนินการปรับปรุงสภาพการทำงานของสถานประกอบการดังกล่าวแล้วอีกด้วย นอกจากนี้ กรมประมงยังเร่งขับเคลื่อนการทดสอบความเหมาะสมในการนำ GLP สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ไปใช้กับกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งของไทย โดยได้มีการกำหนดจะดำเนินการร่วมกันกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ ILO ในเดือนพฤศจิกายน 2557 นี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และเมื่อการทดสอบแล้วเสร็จจะได้นำมาปรับปรุง GLP สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติใช้อย่างแพร่หลายต่อไป สำหรับ GLP เรือประมงเป็น GLP ที่กรมประมงร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมด้วย ILO ร่วมด้วยสมาคมภาคเอกชน อาทิ สมาคมประมงแห่งประเทศไทย สมาคมประมงนอกน่านน้ำ สมาคมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และ NGOs ซึ่งเป็น GLP ที่กรมประมงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการร่างแล้วเสร็จมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงสภาพการทำงาน ในกิจการทำการประมง ทั้งนี้ กรมประมงมีนโยบายชัดเจนที่จะให้มีการขับเคลื่อนเพื่อนำ GLP ไปใช้กับผู้ประกอบการเรือประมงเพื่อให้เกิดผลการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแรงงานบนเรือประมงได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีนี้กรมประมงได้จัดสรรงบประมาณให้มีการฝึกอบรมผู้ประกอบการเรือประมงจำนวน 500 ราย ให้ได้รับทราบแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีเพื่อนำไปปฏิบัติใช้ ดังนั้น การเร่งดำเนินการทดสอบความเหมาะสมในการใช้ GLP สำหรับเรือประมง กับผู้ประกอบการในกลุ่มชาวประมง หรือสมาคมท้องถิ่นต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการประมงสามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย อันจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาสำคัญของแรงงานในเรือประมงได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อน GLP Roadmapในครั้งนี้ จะนำไปสู่การป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะนำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าประมงไทย และสามารถช่วยรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมการประมงของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
แท็ก map  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ