นายกรัฐมนตรี มอบรางวัล Thailand Energy Awards 2014 ปลื้มผลการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานฯ 15 ปี ลดใช้พลังงานเป็นมูลค่า 4,396 ล้านบาท ลดการปล่อย Co2 เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 24, 2014 13:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น นายกรัฐมนตรี มอบรางวัล Thailand Energy Awards 2014 เชิดชูเกียรติผู้สร้างผลงานดีเด่นด้านพลังงานระดับประเทศ เผยผลการดำเนินโครงการฯ 15 ปี สามารถลดการใช้พลังงานเป็นมูลค่า 4,396 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้น พร้อมยกระดับมาตรฐานพลังงานไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC หลังไทยคว้า 13 รางวัลเกียรติยศจาก ASEAN Energy Awards 2014 วันนี้ (21 พ.ย. 57) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Thailand Energy Awards 2014 ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อกระตุ้นให้สถานประกอบการ โรงงาน อาคาร และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงาน รวมถึงการดำเนินการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานควบคู่กันไป โดยภายในพิธีฯ ดังกล่าว มีผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับรางวัล และสื่อมวลชนจากทุกแขนงเข้าร่วมงาน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “รัฐบาลได้ให้ความสำคัญการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทน รวมทั้ง การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ จึงได้ให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานตระหนักถึงความสำคัญของพลังงาน สำหรับการจัดประกวดและมอบรางวัล Thailand Energy Awards 2014 นี้ ถือว่า กระทรวงพลังงานได้มองการณ์ไกลถึงอนาคตของประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้ฯ รวมทั้งสิ้น 2,064 โครงการ และมีผู้ได้รับรางวัลในแต่ละประเภทรวม 603 รางวัล คิดเป็นมูลค่าพลังงานที่สามารถลดได้ประมาณ 4,396 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ให้กับโลกได้ถึง 881,000 ตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 1 ล้านไร่ หรือ 100 ล้านต้น จากตัวเลขดังกล่าวสามารถยืนยันถึงความสำเร็จได้เป็นอย่างดี “นอกจากนี้ ประเทศไทยได้สร้างชื่อเสียงในเวทีการประกวดผลงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนระดับภูมิภาคอาเซียน ใน ASEAN Energy Awards 2014 ด้วยการคว้ารางวัลถึง 13 รางวัล ครองแชมป์ความเป็นผู้นำ ด้านพลังงานติดต่อกันเป็นปีที่ 9 แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและศักยภาพด้านการอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทยที่ไม่เป็นรองใครในภูมิภาคนี้ และแสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2558 นี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “การจัดประกวด Thailand Energy Awards มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2557 นี้ นับเป็นปีที่ 15 ของการจัดงาน มีผู้สนใจส่งผลงานข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 290 ผลงาน ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ทำการคัดเลือกผลงานที่มีความโดดเด่นด้านพลังงาน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงานทดแทน ด้านอนุรักษ์พลังงาน ด้านบุคลากรพลังงาน ด้านพลังงานสร้างสรรค์ และด้านผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน และมีผลการประหยัดพลังงานที่สามารถพิสูจน์ได้จริง เพื่อรับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ จำนวน 63 รางวัล ซึ่งจะสามารถลดการใช้พลังงานให้กับประเทศได้มากกว่า 1,600 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ให้กับโลกได้มากกว่า 181,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 220,000 ไร่ หรือประมาณ 22 ล้านตัน “ประเทศไทยเริ่มต้นการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนจนอยู่ในระดับแถวหน้า เนื่องจากประเทศไทย มีพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาตั้งแต่ปี 2535 เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการหรือผู้ใช้พลังงานในระดับที่มีการใช้พลังงานสูงๆ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานมากขึ้น เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดผลประหยัดด้านพลังงานของหน่วยงาน ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดประกวดฯ มาอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่งด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว สำหรับ Thailand Energy Awards 2014 ทั้ง 63 รางวัล มีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ อาทิ โรงพยาบาลพญาไท 2 โดย บริษัท โรงพยาบาลพญาไท 2 จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารควบคุม และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ASEAN Energy Awards 2014 การบริหารจัดการพลังงานดีเด่นในอาคารขนาดใหญ่ที่ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ควบคู่ไปกับการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญ อาทิ มาตรการรวม Plant Chiller และเปลี่ยนมาใช้เครื่องทำน้ำเย็นประสิทธิภาพสูง มาตรการติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนอากาศ LOSSNAY มาตรการติดตั้ง Dimmer Ballast พร้อม Motion sensor สำหรับทางเดินภายใน WARD มาตรการติดตั้ง VSD ที่ปั้มในระบบปรับอากาศ มาตรการติดตั้งหลอด LED ขนาด 20 วัตต์ ทดแทนการใช้งานหลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาด 36 วัตต์ โครงการพลังงานทดแทนระบบทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Collector) และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับไฟฟ้าแสงสว่างทางเข้าอาคาร จากมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ ส่งผลให้ช่วงปี 2554-2556 อาคารสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 3,696,808 หน่วย และปริมาณ ความร้อน 206,478 เมกะจูล คิดเป็นมูลค่า 13.93 ล้านบาท หน่วยการไฟฟ้าเมื่อเทียบต่อคนไข้ใน และคนไข้นอกลดลง 24.9% และ 34.4% โดยในปี 2556 สามารถลดใช้ไฟฟ้าได้ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ด้านพลังงานทดแทน อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนน้ำมันยางดำ 32.9 เมกะวัตต์ โดย บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 11 จำกัด รางวัลดีเด่นประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า และรางวัลชนะเลิศ ASEAN Energy Awards 2014 โครงการพลังความร้อนร่วมจากพลังงานหมุนเวียน กับแนวคิดนำของเหลือใช้จากการเกษตรและอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น แกลบ เปลือกไม้ ไม้ชิพ ทะลายปาล์ม กะลาปาล์ม ชานอ้อย เหง้ามัน ขี้กบ ขี้เลื่อย ฯลฯ มาใช้เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและความร้อน (ไอน้ำ) เพื่อจำหน่าย สามารถผลิตพลังงานได้มากกว่า 30,000 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ต่อปี แบ่งเป็นไฟฟ้า 17,000 ktoe ต่อปี และความร้อน 13,000 ktoe ต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 99,944.70 ตันคาร์บอน โดยมีต้นทุนการผลิตไอน้ำประมาณ 350 บาท/ตันไอน้ำ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 900 ล้านบาท รายได้จากการขายไฟฟ้า/ไอน้ำ ประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี อัตราผลตอบแทนของโครงการ (IRR) 20 % ระยะคืนทุน 6 ปี ด้านการประกวดประเภทขนส่ง อย่าง บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่น มุ่งเน้น การประยุกต์ใช้นวัตกรรมการให้บริการและการอนุรักษ์พลังงาน จัดตั้งคณะทำงานด้านอนุรักษ์พลังงานเพื่อเป็นกลไก ในการขับเคลื่อน และจัดทำคู่มือการจัดการพลังงานเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีระบบ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการวางแผนการขนส่งเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำแผนการตารางเดินรถ รวมถึงการปรับความเร็วเฉลี่ยรถไฟฟ้าให้เหมาะสมกับผู้โดยสารในกรณีวันธรรมดา วันหยุด รวมไปถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์ และในแต่ละ ช่วงวันของแต่ละวัน เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้บริการที่แตกต่างกัน การนำเข้าเทคโนโลยีมาช่วยเสริมในเรื่อง การประหยัดพลังงานด้วยการติดตั้ง Timer เพื่อปรับลด เพิ่มอุณหภูมิระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติแทนการใช้ระบบ Manual ในช่วงเวลาเร่งด่วนและนอกเวลาเร่งด่วน การปิดระบบปรับอากาศภายในขบวนรถไฟฟ้าขณะกลับเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงในแต่ละวัน จากผลการดำเนินงานในการบริหารจัดการขนส่งที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2554-2556) สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 2,774,636 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 8.32 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ