PwC ชี้ธุรกิจทั่วโลก ‘ไอคิวดิจิตอลต่ำ’ แนะไทยเร่งสร้างซีอีโอยุคไซเบอร์

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday November 25, 2014 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--PwC PwC เผยภาคธุรกิจทั่วโลกยังมีความรู้หรือไอคิวด้านดิจิตอล (Digital IQ) อยู่ในระดับต่ำ หลังพบผู้บริหารขาดโนฮาวในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งตัดลดงบลงทุนด้านไอทีและการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ สวนทางกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มุ่งสู่ดิจิตอลมากขึ้น ชี้มีผู้ถูกสำรวจเพียง 20% เท่านั้นที่มีไอคิวดิจิตอลอยู่ในระดับแข็งแกร่ง นำโดยอุตฯด้านสุขภาพและยานยนต์ แนะเอกชนไทย-เทศเร่งปรับพฤติกรรมองค์กรรับมือเศรษฐกิจยุคดิจิตอล (Digital Economy) นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ Digital IQ Survey ครั้งที่ 6 ซึ่งทำการสำรวจซีอีโอและผู้บริหารฝ่ายไอทีกว่า 1,500 รายใน 36 ประเทศทั่วโลกว่า กระแสการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่บรรดาผู้บริหารต้องตระหนัก และปรับตัวให้ทัน เนื่องจากอินเตอร์เน็ตเข้ามามีอิทธิพลต่อรูปแบบของสินค้าและบริการ พฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารระดับสูงในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทและความสำคัญของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ (Chief Information Officer) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด (Chief Marketing Officer) ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้องค์กรวางกลยุทธ์ด้านดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของตลาด ช่วยให้รู้เท่าทันโอกาส และบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง “เป็นที่น่ากังวลว่า ความรู้ ความเข้าใจของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรส่วนใหญ่ต่อการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดในการดำเนินธุรกิจโดยรวมยังต่ำมาก เห็นได้จากผลสำรวจที่เราพบว่า มีซีอีโอทั่วโลกเพียง 20% เท่านั้นที่มีไอคิวดิจิตอลอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง คือ มีความเข้าใจ มีความสามารถในการประเมินผล และนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนได้อย่างแท้จริง” นางสาว วิไลพร กล่าว “อินเตอร์เน็ตได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการค้าขายอย่างชนิดที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน ฉะนั้น ผู้บริหารรายใดที่เข้าใจถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนปรับตัวต่อวิถีการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ก่อน ย่อมได้เปรียบทั้งในแง่ของผลประกอบการ และการเป็นผู้นำในการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในธุรกิจ หรือ อุตสาหกรรมประเภทใด เพราะวันนี้ ถนนทุกสายวิ่งไปสู่ดิจิตอล ใครที่ขาดวิสัยทัศน์หรือมองข้ามการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆย่อมเสียโอกาส” นางสาว วิไลพร กล่าว ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจประจำปี PwC’s Global CEO Survey ยังคาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Breakthrough) จะเป็น 1 ใน 5 เมกะเทรนด์ ที่มีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในโลกมากที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ สำนักวิจัย Gartner ยังคาดว่าแนวโน้มการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกในปีนี้ จะมีมูลค่าสูงถึง 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือโต 3.2% จากปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่า ซีอีโอจะต้องเร่งพัฒนาไอคิวดิจิตอลของตน เพื่อฉวยโอกาสทางธุรกิจ และให้ทันกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น “สิ่งสำคัญที่จะช่วยในการยกระดับไอคิวดิจิตอลขององค์กร คือ วิสัยทัศน์ของผู้นำ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ๆ การปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจ หรือการเจาะตลาดใหม่ ผู้บริหารถึง 74% บอกเราว่า การก้าวให้ทันเทคโนโลยี ถือเป็นความท้าทายที่ธุรกิจของตนกำลังเผชิญอยู่ แต่กลับพบว่า มีธุรกิจเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการหยิบยกประเด็นนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนหรือกลยุทธ์เพื่อหาแนวทางรับมือหรือหาโซลูชั่นส์ให้กับองค์กรอย่างแท้จริง” เธอกล่าว ผลสำรวจพบว่า ผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจและบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีการปรับตัวต่อการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้กับองค์กรมากที่สุด (82%) รองมาคือ ธุรกิจยานยนต์ (80%) และ พลังงานและเหมืองแร่ (78%) ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีก (59%) กลับเป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวนผู้บริหารที่มีไอเดีย หรือเป็นผู้นำทางความคิดในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Digital champions) น้อยที่สุด กุญแจสู่เศรษฐกิจดิจิตอล นอกจากนี้ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำภายในองค์กรไม่ว่าจะเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer: CEO) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer: CFO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้องค์กรเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านเข้ายุคเศรษฐกิจดิจิตอล หรือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นางสาววิไลพร กล่าวต่อว่า ด้วยกระแสการทำตลาดบนโลกออนไลน์ หรือ ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง เข้ามามีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจมากขึ้น บทบาท หน้าที่ และความสัมพันธ์ของการทำงานร่วมกันระหว่าง CIO และ CMO ยิ่งต้องมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ วิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด การกำหนดงบประมาณ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการวางกลยุทธ์ของบริษัทไปพร้อมๆกับผู้บริหารระดับสูงท่านอื่นๆ “ผลสำรวจพบว่า บริษัทที่เป็น Top Performer หรือมีผลประกอบการแข็งแกร่งถึง 70% มีซีไอโอและซีเอ็มโอที่ทำงานใกล้ชิด และมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง เปรียบเทียบกับ 45% ของกลุ่มที่เป็น Non-top performer” เธอ กล่าว นางสาว วิไลพร กล่าวต่อว่า การก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลยังนำไปสู่ต้นทุนในการดำเนินงานที่ลดลง ไม่ว่าในด้านการผลิตและด้านการขาย อีกทั้งการขยายตัวอย่างกว้างขวางของ E-commerce ยิ่งทำให้ความคิดริเริ่มหรือไอเดียใหม่ๆเกิดขึ้นไม่เพียงแต่ภายในองค์กร แต่รวมถึงแหล่งอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในวงการหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น นักวิเคราะห์ ผู้ขาย หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัย และห้องปฏิบัติการ ดังนั้น ซีอีโอควรเปิดรับไอเดียและสิ่งใหม่ๆจากหลากหลายแหล่งทั้งภายในและนอกองค์กรเพื่อเปิดประตูสู่โลกดิจิตอลอย่างแท้จริง “บริษัทใดที่นำแนวคิดที่เรียกว่า จากภายนอกสู่ภายใน Outside-in Approach หรือ การเปิดรับไอเดียและความคิดเห็นของสังคมภายนอกองค์กร มาวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของลูกค้าว่าแท้จริงต้องการอะไร จากนั้น นำมาปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรและย้อนกลับไปตอบสนองความต้องการของลูกค้า จะทำให้การลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆเกิดผลตอบแทนที่เหมาะสม คุ้มค่า และที่สำคัญ ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างตรงจุด” นางสาว วิไลพร กล่าว ลงทุนไอทีแพลตฟอร์มเพื่ออนาคต เมื่อถามถึงประเภทของเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก นางวิไลพร กล่าวว่า เทคโนโลยีบนมือถือ (Mobile Customer Technology) ระบบคลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) การทําเหมืองข้อมูลและการวิเคราะห์ (Data Mining and Analysis) โซเชียล มีเดีย (Social Media) และการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศของลูกค้า (Cybersecurity) จะกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของทุกธุรกิจในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สำหรับประเทศไทยนั้น การลงทุนด้านไอทีแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิตอลยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการยังขาดความพร้อมในการดำเนินธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แม้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่ต่างๆมีอัตราที่สูงขึ้น และเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างยอดขายให้แก่หลายองค์กรก็ตาม อย่างไรก็ดี มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านดิจิตอล (Digital Capability) องค์กรหลายแห่งมีการส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะทางด้านดิจิตอลที่สูงขึ้น ไม่เฉพาะพนักงานฝ่ายขายหรือฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อก้าวไปสู่องค์กรดิจิตอล (Digital Enterprise) “การที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้ไทยมุ่งไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลจะช่วยวางรากฐาน ให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพราะจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคส่วนต่างๆ มีมูลค่าสูงขึ้นขณะที่เอกชนเองก็ต้องเริ่มวางแผนกลยุทธ์รวมทั้งลงทุนด้านไอที เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะมุ่งไปสู่ดิจิตอลมากขึ้นด้วย” นางสาว วิไลพร กล่าวสรุป “ปัจจุบันบ้านเรามีการผนวกกิจกรรมเศรษฐกิจเข้ากับไอที จนอาจเรียกได้ว่าเราเป็น Digital Economy ในระดับหนึ่ง มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้ไอทีของงานภาครัฐ เช่นเดียวกับองค์กรที่สนับสนุนการผลิตซอฟต์แวร์ และการใช้ไอทีในการผลิตและให้บริการ ในระดับเอกชน เราเห็นพัฒนาการที่ดีตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่หากภาคธุกิจต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังไทยเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปลายปีหน้า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ