สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯมุ่งเดินหน้า โครงการวิจัยเพื่อจัดทำมาตรฐานอาชีพฯ สาขาธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ 6 องค์กรหนังสือร่วมมือเต็มที่ หวังร่วมยกระดับคนทำหนังสือสู่มาตรฐานสากล เตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC

ข่าวทั่วไป Wednesday November 26, 2014 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ได้เปิดตัว “โครงการวิจัยเพื่อจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์” โดยมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน)สนับสนุนงบประมาณ ภายใต้การทำวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่าโครงการวิจัยเพื่อจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์เกิดขึ้น เพราะทางสมาคมผู้จัดพิมพ์เล็งเห็นว่าธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยนั้น ยังไม่เคยมีการวัดมาตรฐานการทำงาน รวมถึงการจัดอบรมการเพิ่มศักยภาพของผู้สร้างงานมาก่อน หรือแม้แต่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในไทยเอง ก็ไม่ได้เอื้อต่อการประกอบวิชาชีพทางด้านหนังสือหรือสิ่งพิมพ์โดยตรง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเรียนรู้แบบครูพักลักจำ ดังนั้นปัญหาหนึ่งที่พบในการทำงาน คือประสบการณ์ของผู้ทำงานสามารถชี้วัดมาตรฐานของผลงานได้มากกว่าระดับการศึกษา ซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพโดยรวมของวงการหนังสือทั้งหมด ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯจึงริเริ่มโครงการดังกล่าวขึ้น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมจากองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ “งานนี้คงไม่สามารถเริ่มต้น หากไม่ได้รับความร่วมมือจาก 6 องค์กรสำคัญ คือสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย กลุ่มนักวาดภาพประกอบ และองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ ซึ่งมาร่วมพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพและร่วมสร้างมาตรฐานวิชาชีพในกลุ่ม 6 อาชีพ คือนักเขียน นักแปล นักวาดภาพประกอบ บรรณาธิการ พิสูจน์อักษร และนักออกแบบกราฟฟิค” ด้านนางสุชาดา สหัสกุล กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เปิดเผยว่าการสร้างกรอบมาตรฐานของวิชาชีพที่เป็นสากลจะเป็นผลดีกับคนทำหนังสือมาก เพราะปัจจุบันนี้ในหลายประเทศได้มีการวัดมาตรฐานคุณาวุฒิวิชาชีพในอาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ อังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย โดยเฉพาะที่ออสเตรเลีย ซึ่งมีการทำมาตรฐานอาชีพนักแปลที่เป็นที่รู้จักกันในระดับสากลได้แก่ ใบประกอบอาชีพนักแปลในประเทศออสเตรเลีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ The National Accreditation Authority for Translators and Interpreters (NAATI) ซึ่งจัดสอบรับรองมาตรฐานอาชีพนักแปลและล่ามหลากหลายภาษาและเป็นที่ยอมรับในสายอาชีพการแปลในระดับนานาชาติ “เมื่อประกอบกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 แล้ว การสร้างกรอบมาตรฐานของวิชาชีพที่เป็นสากลจะเป็นผลดีกับคนทำหนังสือ เพราะ AEC มีตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างกัน มาตรฐานที่เป็นสากล จะเป็นโอกาสของคนทำหนังสือในการรับงาน ขณะเดียวกันเป็นประโยชน์สำหรับผู้ว่าจ้าง ที่จะได้คนตามคุณสมบัติที่ต้องการถือเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขัน โดยการวิจัยจะนำไปสู่โครงการอบรมให้ความรู้ แบบทดสอบคุณวุฒิรวมถึงมาตรฐานอาชีพต่างๆ รวมถึงหลักในการวางโครงสร้างเงินเดือนตามความสามารถ โดยมีจุดประสงค์หลักคือต้องการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้ธุรกิจหนังสือในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนมั่นคง ด้วยคุณภาพของคนทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเข้าสู่การแข่งขันในระดับสากลหลังจากเปิดประชาคมอาเซียน สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯหวังว่าคนในวงการหนังสือจะตื่นตัว ตื่นรู้ มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เด็กรุ่นหลัง ที่จะมาทำสายอาชีพต่างๆในธุรกิจนี้ เห็นความชัดเจนในบทบาทหน้าที่การทำงานในแต่ละตำแหน่ง โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์”เพื่อยกระดับคนทำหนังสือสู่มาตรฐานสากลให้สำเร็จ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ