กสอ. จับมือจังหวัดฟุกุอิสร้างเครือข่ายความร่วมมือSMEsด้านอุตสาหกรรม

ข่าวทั่วไป Thursday November 27, 2014 11:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือจังหวัดฟุกุอิประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายอิเซอิ นิชิกาว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดฟุกุอิ เพื่อเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ผ่าน 3 กรอบความร่วมมือได้แก่ 1. เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศไทยกับจังหวัดฟุกุอิประเทศญี่ปุ่น 2. สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในจังหวัดฟุกุอิ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทยในการขยายธุรกิจในระดับสากล และ 3. ดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศ อาทิ การจัดโครงการแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรมการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือ Otagai Business Concept ในระดับเครือข่ายวิสาหกิจระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จังหวัดฟุกุอิและประเทศไทย ซึ่งคาดว่าความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่นจะขยายฐานการผลิตในประเทศไทย และเกิดการจ้างงานในประเทศไทยมากขึ้น โดยขณะนี้มีบริษัทในจังหวัดฟุกุอิเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยแล้ว 20 บริษัท เป็นจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 11 โรงงานคิดเป็นจำนวนเงินลงทุนประมาณ7 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นประเภทอุตสาหกรรมสิ่งทอมากที่สุด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีโต๊ะญี่ปุ่นซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ และในช่วงที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากหลายจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ จังหวัดชิมาเน่ จังหวัดไอจิ จังหวัดไซตามะ จังหวัดยามานะชิ จังหวัดอะคิตะ จังหวัดโทโทริ และเมืองคาวาซากิ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมร่วมกันมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2557ที่ผ่านมามีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยกว่า 300 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 109,000 ล้านบาท(ข้อมูล : สำนักความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ) และคาดว่าภายในสิ้นปี 2557 จะมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท นายปราโมทย์ วิทยาสุขผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับจังหวัดฟุกุอิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านกรอบของความร่วมมือใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1. เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับ จังหวัดฟุกุอิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่าง ผู้ประกอบการ SMEs จากรัฐบาลท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย 2. กระทรวงอุตสาหกรรมกับจังหวัดฟุกุอิประเทศญี่ปุ่นจะมีการร่วมมือเพื่อการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมในฟุกุอิและประเทศไทยในการขยายธุรกิจในระดับสากล 3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิดกัน นายปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจังหวัดฟุกุอิจะเป็นจังหวัดเล็กๆ ในประเทศญี่ปุ่นแต่ก็มีความโดดเด่นในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาทิ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องจักรโดยเฉพาะเครื่องจักรที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งทอที่มีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตกรอบแว่นตาก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งสามารถผลิตกรอบแว่นตาคุณภาพดี ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา และทนทานคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของการผลิตกรอบแว่นตาทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงนามความร่วมมือกับจังหวัดฟุกุอิ ถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น ลำดับที่ 8 ที่ได้มีการลงนามความร่วมมือ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยการใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมารวมกันเพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่กันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือที่เรียกว่า “Otagai Business Concept”ซึ่งเป็นแนวคิดในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการผลิตในระดับเครือข่ายวิสาหกิจระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จังหวัดฟุกุอิและประเทศไทยเมื่อเผชิญปัญหาเพื่อรับมือความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบให้เกิดการติดขัดหรือหยุดชะงักได้ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีเครือข่ายวิสาหกิจช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสถานการณ์เร่งด่วนด้วย นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มีโต๊ะญี่ปุ่นซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนา SMEsให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ และในช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับการติดต่อจากหลายจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ จังหวัดชิมาเน่ จังหวัดไอจิ จังหวัดไซตามะ จังหวัดยามานะชิ จังหวัดอะคิตะ จังหวัดโทโทริ และเมืองคาวาซากิ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็มีนโยบายสนับสนุนให้ SMEs ของตนมีการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้น เพื่อป้องกันการปิดตัวลงของ SMEs ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมักประสบปัญหาในการผลิต อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ตลาดที่หดตัวลงและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศไทยนั้น บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นเลือกลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศ AEC เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนมีความพร้อมทั้งการเชื่อมโยงไปสู่อาเซียนซึ่งในขณะนี้มีบริษัทของจังหวัดฟุกุอิได้ลงทุนในประเทศไทยแล้วจำนวน 20 บริษัท โดยเป็นจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 11 โรงงานคิดเป็นจำนวนเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นประเภทอุตสาหกรรมสิ่งทอมากที่สุดทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานเดอะฟุกุอิแบงค์ ลิมิเต็ด(The Fukui bank Limited) เป็นผู้แทนประสานงานระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนของจังหวัดฟุกุอิกับหน่วยงานในประเทศไทยลักษณะเป็นศูนย์ให้การสนับสนุน (Support Center) ด้านการค้าการลงทุนโดยมีสำนักงานอยู่ ณ อาคาร แอทธินีทาวเวอร์ และได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 ทั้งนี้ ในปี 2557 มีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยกว่า 300 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 109,000 ล้านบาท (ข้อมูล : สำนักความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ) และคาดว่าภายในสิ้นปี 2557 จะมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับอุตสาหกรรมญี่ปุ่นจังหวัดฟุกุอิประเทศญี่ปุ่น ในวันนี้เป็นการลงนามระหว่างนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายอิเซอิ นิชิกาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดฟุกุอิ นอกจากนี้ยังจะมีการลงนามความร่วมมือในด้านการพัฒนาการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาหลายแห่ง และการลงนามความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้ง2ฝ่ายด้วยโดยจัดขึ้นณ ห้องชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พระราม 6 กรุงเทพฯ นายปราโมทย์ กล่าวสรุป สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โทร. 0 2202 4426-7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ