กระทรวงเกษตรฯ ประชุมเครือข่ายชาวสวนยางสรุปประเด็นปัญหาแนวทางแก้ไข พร้อมเร่งขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราไปสู่การปฏิบัติ หวังแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างรวดเร็ว

ข่าวทั่วไป Monday December 15, 2014 12:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดประชุมเครือข่ายชาวสวนยางระดับเขต และระดับประเทศ กว่า 100 คน และการตอบปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตรสถาบันวิจัยยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยได้มีการสรุปประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไข ในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาผลผลิตยางพารา การแปรรูป การตลาดยางพาราของสถาบันเกษตรกร ภายใต้มาตรการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบของรัฐบาล 16 มาตรการ นายอำนวย กล่าวภายหลังการสรุปประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขว่า ในการดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ นั้น จะมีการเจาะลึกและติดตามการดำเนินงานของแต่ละจังหวัดอย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนการดำเนินงาน หรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเร่งแก้ไขให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ส่วนกรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย หรือติดขัดในเรื่องที่ระเบียบของมาตรการต่าง ๆ ไม่ครอบคลุมนั้น จะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาหาทางแก้ไข ทั้งนี้ หากปัญหานั้นไม่เข้าเกณฑ์ใด ๆ เลย แต่จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ก็จะนำปัญหาดังกล่าวมาพิจารณาหาทางแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป อนึ่ง เครือข่ายชาวสวนยางได้สรุปประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาทิ โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท ติดปัญหาที่ยังมีความล่าช้า และปัญหาของเกษตรกรที่มีสวนยางอยู่ในเขตที่ดินของ ส.ป.ก. และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง และ โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา ประสบปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเงินสมทบของสถาบันเกษตรกร นอกจากนั้น เป็นปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำ และจำนวนสต๊อกยาง พร้อมทั้งได้เสนอให้มีการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการนำยางพาราไปใช้ในการลาดพื้นถนน เป็นต้น นายอำนวย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาล 16 มาตรการ ได้แก่ 1) โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 2) โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ1,000 บาท (รายละ 15,000 บาท) 3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม (รายละไม่เกิน 100,000 บาท) 4) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง 5) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง 6) โครงการสนับ สนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา 5,000 ล้านบาท 7) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง15,000 ล้านบาท 8) โครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา 9) โครงการจัดหาตลาดใหม่เพื่อส่ง ออกยางพารา 10) โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ/โครงการสนับสนุนผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ยาง 11) โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง 12) โครงการควบคุมปริมาณการผลิต 13)โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 14) โครงการลดต้นทุนการผลิต 15) โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตยาง และ 16) โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ระยะสั้น สนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรไร่ละ 2,520 บาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ