“ตลาดย้อนยุคนครชุม” ตลาดโลว์คาร์บอนแห่งแรกของประเทศ

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday December 16, 2014 12:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--อพท. พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีนโยบายพัฒนาพื้นที่พิเศษในความดูแลรับผิดชอบให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2556 ริเริ่มให้ชุมชนและสถานประกอบการดำเนินกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนในรูปแบบง่ายๆ โดยไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายมากนัก อาทิ การคัดแยกขยะ การทำน้ำหมักชีวภาพ การลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าด้วยการติดตั้งโซล่าเซลล์ เป็นต้น ตลอดจนกการสร้างให้เกิดความตระหนักและกระแสของความร่วมมือในภารกิจลดภาวะโลกร้อนระหว่างบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ ปีงบประมาณ 2557 อพท. เร่งสานต่อภารกิจจากปีที่ผ่านมา ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของภาคีเครือข่ายชุมชนและสถานประกอบการต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยคิดค้นเป้าหมายและกรอบในการพัฒนาต้นแบบ มุ่งเน้นให้เป็นไปตามลักษณะเฉพาะของชุมชนและสถานประกอบการ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดต้นแบบที่เป็นมาตรฐานของการลดภาวะโลกร้อนในชุมชนหรือสถานประกอบการในแหล่งท่องเที่ยว สร้างให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ กระตุ้นธรรมชาติสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ นำสู่การขยายเครือข่ายลดภาวะโลกร้อนให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นพื้นที่พิเศษสีเขียวต่อไปในอนาคต นายสิทธิศักดิ์ ปฐมวารี ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร กล่าวว่า แนวคิดการสร้างต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้เพื่อท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร ได้ดำเนินการส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่พิเศษและชุมชนบริเวณแหล่งท่องเที่ยว ร่วมกันดำเนินกิจกรรมภายใต้ภารกิจลดภาวะโลกร้อน ผลปรากฏว่าชุมชนสามารถลดอัตราการปลดปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) เฉพาะที่เกิดจากภาคการท่องเที่ยวให้ลดลงจากเดิมได้ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวมีจำนวนมากขึ้นก็ตาม นอกจากนั้น อพท. ยังมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพชุมชนเครือข่ายให้สามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้แก่ชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่พิเศษและนอกพื้นที่พิเศษได้ในอนาคต ล่าสุด ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร พื้นที่พิเศษในความดูแลของ อพท. ได้เลือกดำเนินโครงการกับตลาดย้อนยุคนครชุม เริ่มจากศึกษาปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) ที่เกิดจากภาคการท่องเที่ยวในกิจกรรมตลาดย้อนยุคนครชุม จากนั้นนำมาจัดกิจกรรมตามมาตรการลดภาวะโลกร้อน พบว่า - การท่องเที่ยวตลาดย้อนยุคนครชุมจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 927.69 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อวัน หรือคิดเป็น 33.34 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เฉลี่ยเป็นต่อหัวนักท่องเที่ยว 0.30 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อครั้ง - ตลาดย้อนยุคนครชุมมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 3,129 คนต่อวัน ผลิตขยะประมาณวันละเกือบ 200 กิโลกรัมต่อวัน คิดเป็น 7,200 กิโลกรัมต่อปี ปล่อยคาร์บอนมากถึง 22,025.88 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ทั้งนี้ในขั้นตอนการกำจัดซากวัสดุใช้สอยและของเสียหลังหมดอายุการใช้งานมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงร้อยละ 65.95 ซึ่งมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเศษอาหาร ร้อยละ 52.38 และวัสดุอื่นๆ เช่น ถุงพลาสติก น้ำมันพืชใช้แล้ว ร้อยละ 39.57 - เห็นได้ว่าตัวการสำคัญที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุดคือ การจัดการขยะ รองลงมาคือการใช้พลังงาน ซึ่งปล่อยคาร์บอนถึง 188.87 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อวัน จากผลการศึกษาปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนดังกล่าวข้างต้น นำมาซึ่งมาตรการในการดำเนินการลดภาวะโลกร้อน ร่วมกับร้านค้าในตลาดย้อนยุคนครชุม เทศบาลตำบลนครชุม และนักท่องเที่ยว ดังนี้ มาตรการลดปริมาณขยะ ได้แก่ - รณรงค์การใช้ถุงผ้าและปิ่นโต - จัดให้มีถังขยะแยกประเภท เพื่อคัดแยกขยะ นำขยะจากเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมัก ขยะรีไซเคิลประเภทพลาสติกไปขาย/บริจาค - รณรงค์การใช้ภาชนะใส่อาหารที่ย่อยสลายได้ และใช้ถุงหิ้วพลาสติกย่อยสลายง่าย มาตรการลดการใช้พลังงาน ได้แก่ - จัดทำไวนิลผังที่จอดรถ เพื่อให้นักท่องเที่ยวทราบจุดที่จอดรถ ไม่ต้องขับรถวนหาที่จอด - เปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างร้านค้าจากหลอดตะเกียบเป็นหลอดไฟประหยัดพลังงาน LED - เปลี่ยนหลอดไฟประดับตลาดจากหลอดตะเกียบเป็นหลอดไฟประหยัดพลังงานและติดตั้งเซ็นเซอร์เปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ เพื่อกำหนดเวลาการเปิด-ปิด - ลดจำนวนหลอดไฟส่องสว่างที่ไม่จำเป็น - ทดลองเปลี่ยนถ่านไม้เป็นถ่านชีวมวล และใช้เตาประสิทธิภาพสูง - ภายหลังการทดลองดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว พบว่าปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนลดลงเหลือ 377.73 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อวัน คิดเป็นปริมาณต่อหัวนักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 0.12 kgCO2eq ต่อหัวนักท่องเที่ยวต่อครั้ง ซึ่งสามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ร้อยละ 59.28 - ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีตามกิจกรรมต่างๆ กิจกรรมการปล่อย CO2 ปริมาณการปล่อยคาร์บอน Carbon Emission)(kgCO2eq/ปี) ก่อนดำเนินกิจกรรมลดภาวะโลกร้อน หลังดำเนินกิจกรรมลดภาวะโลกร้อน ปริมาณ CO2ที่ลดลงการใช้พลังงาน 6,799.32 3,656.52 3,142.80การจัดการขยะ 22,025.88 6,307.92 15,717.96อื่นๆ 4,558.68 3,620.52 938.16รวม 33,396.84 13,597.92 19,798.92 ปัจจุบัน ร้านค้า ชมรมตลาดย้อนยุคนครชุม เทศบาลนครชุม เห็นความสำเร็จและความแตกต่างที่เกิดขึ้น จึงเห็นว่าจะดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นตลาดโลว์คาร์บอนแห่งแรกของประเทศ โดยในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 นี้ กำหนดให้มีการประกาศและมอบรางวัลให้กับแม่ค้าตลาดย้อนยุคนครชุมที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมโครงการเป็นอย่างดี เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างความภาคภูมิใจ นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อการสร้างการรับรู้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ