รู้จักมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมลูกหมาก.....ภัยเงียบสำหรับชายสูงวัย

ข่าวทั่วไป Friday January 9, 2015 16:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--pradonline ข้อมูลโดย นพ.วิโรจน์ รักษากุล โรงพยาบาลธนบุรี2 ต่อมลูกหมากคืออะไร? ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของผู้ชาย ลักษณะคล้ายลูกเกาลัด ทำหน้าที่สร้างน้ำเมือกและอาหารของอสุจิ โดยต่อมลูกหมากจะหุ้มล้อมท่อปัสสาวะส่วนต้น หากจะเปรียบให้เห็นภาพก็คล้ายกับหลอดกาแฟ ที่เสียบทะลุกลางลูกแตงโม โดยหลอดกาแฟจะเปรียบได้กับท่อปัสสาวะ ส่วนแตงโมจะเปรียบได้กับต่อมลูกหมาก เมื่อผู้ชายอายุมากขึ้น ต่อมลูกหมากก็จะมีขนาดโตขึ้น แน่นขึ้นโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเนื้อแดงของลูกแตงโม จึงทำให้เกิดการกดเบียดท่อปัสสาวะใน มีอาการปัสสาวะลำบากนั่นเอง มะเร็ง ก็คือการเจริญของเนื้อเยื่อที่นอกเหนือการควบคุมของร่างกาย ต่อมลูกหมากก็เช่นกัน แต่ธรรมชาติของมะเร็งต่อมลูกหมากมักเกิดในบริเวณขอบนอกของต่อม ซึ่งก็ได้แก่บริเวณเปลือกเขียวของลูกแตงโมนั่นเอง ต่อมลูกหมากเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุอาการเกิดมะเร็งในต่อมลูกหมาก แต่มีการศึกษาพบว่า ลักษณะทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุที่สำคัญ เพราะพบได้บ่อยในครอบครัวที่มีคนเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมาก่อน โดยเฉพาะคนที่เป็นญาติลำดับติดกัน เช่น บิดา,พี่ชาย,น้องชาย และในคนผิวดำแอฟริกาพบมากกว่าคนผิวขาวทางตะวันตกและโชคดีที่ภูมิภาคเอเชียพบมะเร็งต่อมลูกหมากได้น้อยกว่าชนชาติอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี สถิติของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก สูงขึ้นเรื่อยๆในทุกภูมิภาคทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ทำไมมะเร็งต่อมลูกหมากจึงถือว่าเป็นภัยเงียบ เพราะสาเหตุหลายประการอาทิ เช่น มะเร็งชนิดนี้มักจะไม่ปรากฏอาการในระยะแรก เนื่องจากมะเร็งมักเกิดขึ้น บริเวณขอบนอกของต่อมหรือเปลือกเขียวของแตงโม จึงไปทำให้เกิดอาการผิดปกติ แต่เมื่อใดก้อนมะเร็งโตมากขึ้นๆ จนไปเบียดเนื้อต่อมลูกหมากธรรมดาแล้ว เมื่อนั้นจึงจะส่งผลต่อการเบียดท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยจึงมักมีอาการถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติ หรือไม่ก็มีอาการของมะเร็งกระจายไปกระดูกส่งผลให้ปวด หรือกระดูกหักยุบ ซึ่งมักเป็นในระยะแพร่กระจายเสียแล้ว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ก่อนอื่นก็ต้องรู้ก่อนว่าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น อายุมากกว่า 50 ปี มีญาติในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือแม้แต่มีอาการปัสสาวะไม่ดีเหมือนหนุ่มๆวัย 40-80 ปี ซึ่งหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ควรเข้ารับการตรวจประเมินต่อมลูกหมาก แพทย์จะตรวจโดยการล้วงนิ้วเข้าในทวารหนักเพื่อคลำเปลือกของต่อมลูกหมาก ร่วมกับการเจาะเลือดเพื่อหาตัวบ่งชี้มะเร็ง ซึ่งได้แก่ ระดับ PSA ในเลือด (ซึ่งคนปกติควรมีค่าไม่เกิน4 ng/dl) หากสงสัยว่าจะมีโอกาสสูงในการเกิดมะเร็งจากการตรวจทางทวารหนักที่ผิดปกติ หรือระดับ PSA ในเลือดที่ผิดปกติ แพทย์จะทำการสุ่มตรวจชิ้นเนื้อผ่านทางทวารหนักโดยอาศัย เครื่องอัลตร้าซาวด์ช่วยประกอบการตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัย ถ้าหากเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะรักษาอย่างไร? การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก ซึ่งเป็นเพราะการวินิจฉัยได้เร็วในระยะที่ไม่มีการลุกลาม ซึ่งหากรู้แต่เนิ่นๆ สามารถรักษาได้ทั้งการผ่าตัด,ฝังแร่ หรือฉายแสง ผลการรักษาดี โดยหวังได้ถึงการหายขาด แต่หากมะเร็งเริ่มลุกลามออกนอกเปลือกต่อมลูกหมาก การรักษาจะต้องอาศัยฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้อง ร่วมกับการรักษาดังกล่าวข้างต้น แต่ผลการรักษาจะไม่ดีเหมือนในกลุ่มแรก ส่วนผู้ป่วยที่รู้เมื่อโรคเข้าระยะแพร่กระจายแล้ว จะรักษาโดยฮอร์โมนประคับประคองร่วมกับการฉายแสงหรือเคมีบำบัดเท่านั้น โดยสรุปจะเห็นว่ามะเร็งต่อมลูกหมากมีผลการรักษาที่ดีหากวินิจฉัยได้ระยะแรก แต่ผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกก็ไม่มีอาการฉะนั้น การรอมาพบแพทย์เมื่อมีอาการจึงทำให้พลาดโอกาสทองไป ดังนั้นจึงควรตรวจประเมินก่อน เพื่อตระหนักว่าตัวเราเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังเช่น วลีอมตะที่ยังทันสมัยอยู่เสมอ “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งย่อมชนะร้อยครั้ง”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ