สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 12-16 ม.ค. 58 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 19-23 ม.ค. 58 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 19, 2015 16:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ปตท. สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 3.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 4.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 4.22 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 4.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - WoodMackenzie รายงานหากราคาน้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จะกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโลกเพียง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 1.6% เท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเกิดการยุติการผลิตทั้งหมดเพราะผู้ผลิตบางรายอาจยอมผลิตแม้ขาดทุน อาทิ แหล่งผลิตที่มีอายุการผลิตมานาน (Matured Field) จะต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงในการฟื้นฟูการผลิตใหม่ - บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิรัก (State Oil Marketing Organization: SOMO) มีแผนส่งออกน้ำมันดิบจากท่า Basra ทางตอนใต้ในเดือน ก.พ. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.6 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ท่าส่งออกดังกล่าวได้รับการปรับปรุงและสามารถลดเวลาที่เรือบรรทุกน้ำมันต้องรอรับน้ำมันดิบลง 2 วัน จากเดิมที่ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ - Goldman Sachs ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent สำหรับครึ่งแรกปี 2558 อยู่ที่ 43 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จาก 85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และค่าเฉลี่ยทั้งปี 2558 จาก 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้ Goldman มองว่าหากราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ระดับ40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในครึ่งปีแรกจะส่งผลให้การผลิตและการลงทุนใน Shale Oil/ Gas ในสหรัฐฯ ลดลง - World Bank ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกปี 2558 อยู่ที่3.0% ต่อปี ลดลง จากที่ประเมินใน เดือน มิ.ย. 2557 ว่าจะเติบโตที่ 3.4% ต่อปี และในปี 2559 จะเติบโตที่3.3% ต่อปี จากเดิม ที่ระดับที่ 3.5% ต่อปี ด้วยเห็นว่าลำพังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐอเมริกาไม่เพียงพอต่อการผลักดันเศรษฐกิจโลก ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ในระยะสั้นเช่นในปีนี้ จะส่งผลเพิ่มต่อ GDP ของโลกเพียง 0.1% ต่อปี ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - Energy Information Administration( EIA) คาดการณ์ การผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ จะมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้การผลิต Shale Oil จากแหล่ง Permian Basin ในเดือน ก.พ. 2558 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 41,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นการเพิ่มขึ้นด้วยอัตราต่ำกว่าเดือนก่อนเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ส่วนปริมาณการผลิตจากแหล่ง Bakken เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 24,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นด้วยอัตราต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และยอดผลิตจากแหล่ง Eagle Ford เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 25,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นด้วยอัตราต่ำสุดในรอบ 9 เดือน - Reuters รายงานสัญญาการซื้อขายล่วงหน้าของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปหลักทุกชนิดในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ได้เข้าสู่ภาวะ Contango ซึ่งเป็นภาวะที่ชักจูงให้ผู้ค้าเริ่มเข้าซื้อน้ำมัน เพื่อเก็บสำรองไว้ขายในอนาคต โดย บริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่ อาทิ บริษัท Trafigura, Vitol, Gunvor และ Shell ได้จองเรือขนาดใหญ่ (ULCC ความจุ 3 ล้านบาร์เรล และ VLCC ความจุ 2 ล้านบาร์เรล) สำหรับเก็บน้ำมันดิบหรือที่เรียกกันว่า Floating Storage ด้วยปริมาณรวมกว่า 25 ล้านบาร์เรล เป็นระยะเวลา 12 เดือน ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบตกต่ำ เพื่อขายทำกำไรในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น - Baker Hughes บริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมันรายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบแบบ Horizontalสำหรับขุดเจาะ Shale Oil สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ม.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 35 แท่น มาอยู่ที่ 1,301แท่น ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดตลาดวันที่ 16 ม.ค. 58 ที่ 50.17 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ WTI ที่ 48.69เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังจาก IEA รายงานตัวเลขคาดการณ์ปริมาณการผลิตของกลุ่มผู้ผลิต Non- OPEC ในปี 2558 ลดลง 350,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนมาอยู่ที่ระดับ 57.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2558 จะเติบโตสูงขึ้นจากปีก่อน 0.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความต้องการใช้ที่ลดลงของรัสเซียเนื่องจากเศรษฐกิจที่ซบเซา โดย IEA มองว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องและใช้เวลาสักระยะที่ราคาจะเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาน่าจะได้แรงสนับสนุนจากปริมาณการผลิตที่เติบโตช้าลงในช่วงครึ่งหลังปี 2558 ทั้งนี้บริษัท Baker Hughes Inc. เผยตัวเลขขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ม.ค. 58 ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 55 หลุม ลดลงมาอยู่ที่ 1,366 หลุม ชี้ให้เห็นว่าระดับราคาน้ำมันที่ตกต่ำเริ่มส่งผลกระทบต่อปริมาณการขุดเจาะในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามประเทศในตะวันออกกลางยังคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย และ อิรัก โดยซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบ เดือน พ.ย. 58 แตะสูงสุดในรอบ 7 เดือน ขณะนาย Adel Abdel Mehdi รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิรักเผยอิรักผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ธ.ค. 57 และมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากรัฐปกครองพิเศษเคอร์ดิสถานในไตรมาส 1/58 ที่ระดับ 375,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเพิ่มความกดดันต่อราคาน้ำมัน และ IEA มองว่าราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในทิศทางขาลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ในสัปดาห์นี้ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent , WTI และดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46.78 -50.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, 44.2 – 49.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 42.18-46.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจากจาก Platts รายงานภาวะอุปทานล้นตลาดในเอเชียเนื่องจากปริมาณการผลิต น้ำมันเบนซิน จากเอเชียเหนือคงที่ ในขณะที่อุปสงค์อ่อนแอ กอปรกับ Arbitrage จากตะวันตกสู่ตะวันออกเปิด และ รัฐบาลอินโดนีเซียจะปรับราคาน้ำมันเบนซิน 88 Ron โดยจะอุดหนุนเพียง 1,000 รูเปียห์ ต่อลิตร (0.08 เหรียญสหรัฐฯต่อลิตร) จากราคาตลาดเท่านั้น และจะปรับราคาทุก 2 สัปดาห์ และตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียยังคงได้รับแรงกดดันจากประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่เผชิญภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วม ทำให้มาเลเซียมีอุปสงค์น้ำมันเบนซิน ลดลง อีกทั้ง IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.71 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 13.28 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 11เดือน อย่างไรก็ตาม West Pacific Petrochemical Corp. (WEPEC) ของจีน ประกาศปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Dalianกำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน ระหว่างวันที่ 20 เม.ย. - 25 พ.ค. 58 ขณะที่โรงกลั่นของ Philadelphia Energy Solution (PES) กำลังการกลั่น 355,000 บาร์เรลต่อวัน และของ Husky Energy Inc. กำลังการกลั่น 155,000 บาร์เรลต่อวัน ในสหรัฐฯ หยุดดำเนินการเนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งกำลังการกลั่นของทั้งสองโรงกลั่นรวมกันเป็นปริมาณเกือบ 1 ใน 10 จากกำลังการกลั่นทั้งหมดในพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก (East Coast) และบริเวณตะวันตกตอนกลาง (Midwest) ของสหรัฐฯ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.88-57.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลลดลงจาก กระทรวงพาณิชย์จีน ประกาศเพิ่มภาษีผู้บริโภค (Consumption Tax) สำหรับน้ำมัน ดีเซล มาอยู่ที่ 1.20 หยวนต่อลิตร (0.195 เหรียญสหรัฐฯต่อลิตร) จากเดิมที่ 1.10 หยวนต่อลิตร (0.179 เหรียญสหรัฐฯต่อลิตร) และ Formosa Petrochemicals Corp. (FPC) ของไต้หวันกลับมาดำเนินการหน่วย Residue Fluid Catalytic Cracker No. 2 (RFCC กำลังผลิต 84 ,000 บาร์เรลต่อวัน ) หลังจากที่ต้องหยุดดำเนินการจากปัญหาทางเทคนิคเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 57 อย่างไรก็ตามโรงกลั่นน้ำมัน Osaka (กำลังผลิต 115,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท JX ในญี่ปุ่นมีแผนปิดซ่อมบำรุงในเดือน มี.ค.-พ.ค. 2558 และ Department of Statistics ของมาเลเซียรายงานปริมาณการผลิต Gas Oil ในเดือน พ.ย. 57 ลดลงจากปีก่อน 15.1 % และลดลงจากเดือนก่อน 7.5 % อยู่ที่ 6.7 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ม.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.30 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 8.73 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.68-63.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ