โรงไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์ของ KBS เริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว คาดเพิ่มศักยภาพทำกำไรปี 58 150 ลบ.ก่อนขยับเป็น 220 ลบ.ในปี 59

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 26, 2015 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--IR Network นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์โรงใหม่ของกลุ่มบริษัท เริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟผ.ได้แล้ว ตั้งแต่ 2 มกราคม 2558 คาดปีนี้ จะสามารถรับรู้กำไรเพิ่มเติมจากธุรกิจไฟฟ้าประมาณ 150 ล้านบาท และจะขยับเป็น 220 ล้านบาทในปี 2559 “COD ของธุรกิจไฟฟ้า ถือเป็นไมล์สโตนที่สำคัญของแผนธุรกิจระยะยาวของกลุ่ม KBS คือการพัฒนา Sugar Energy Complex ซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายปี 2559” นายทัศน์กล่าว กลุ่ม KBS มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจโดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจ อ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน โดยมีหนึ่งในกลยุทธ์หลักคือการพัฒนาตามโมเดล Sugar Energy Complex คือมีกำลังการผลิตน้ำตาล 35,000 ตันอ้อยต่อวัน โรงไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์ และ โรงงานผลิตเอทานอลขนาด 200,000 ลิตรต่อวัน เพื่อรองรับการผลิตอ้อย 4 ล้านตันต่อปี โมเดลนี้จะทำให้ Economies of scale ทีเหมาะสม มีประสิทธิภาพการผลิตสูง และมีข้อได้เปรียบในเชิงการบริหารต้นทุน และศักยภาพการทำกำไร “KBS มองภาพนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงใหม่ขนาด 35 เมกะวัตต์ โดยใช้เทคโนโลยี High-pressure boiler ซึ่งมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงกว่าเทคโนโลยีเดิมมาก” นายทัศน์กล่าวเพิ่มเติม กลุ่ม KBS ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2555 โดยให้ บจ. ผลิตไฟฟ้าครบุรี (KPP) ซึ่งเป็นบริษัทลูก 99.9% ของ KBS เป็นผู้บริหารงาน มีงบประมาณก่อสร้าง 1,650 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 2555 – 2557 และได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมดเป็นเวลา 8 ปี และลดลงกึ่งหนึ่งต่อจากนั้นอีก 5 ปี KPP ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นสัญญา Firm 22 เมกะวัตต์ และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก (COD) แล้วเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558 โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 35 เมกะวัตต์ จะตอบโจทย์ด้านกลยุทธ์ของกลุ่ม KBS 4 ประการ ประการที่หนึ่ง เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำแก่โรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ประการที่สอง เพิ่มศักยภาพในการทำกำไรให้กลุ่มบริษัท โดยคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 19% และจะสร้างกำไรเพิ่มเติมให้กลุ่มบริษัทในปีแรกที่เริ่มดำเนินการ (2558) ประมาณ 150 ล้านบาท และปีที่สอง (2559) ประมาณ 220 ล้านบาท ประการที่สาม รายได้และกำไรจากโรงไฟฟ้าค่อนข้างจะมีความมั่นคงไม่ผันผวนตามภาวะเศษรฐกิจ จึงจะช่วยกระจายความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทซึ่งเดิม รายได้และกำไรค่อนข้างผันผวนตามภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นหลัก ประการสุดท้าย โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นฟันเฟื่องสำคัญของ Sugar Energy Complex ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักของกลุ่ม KBS ที่ต้องการบริหารจัดการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลและการประหยัดพลังงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อ้อย ผลิตภัณฑ์น้ำตาล และผลพลอยได้ ให้สูงที่สุด เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำใน ธุรกิจอ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ