องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ค้าน ชุด กม.เศรษฐกิจดิจิทัล เสนอ ครม.ทบทวน ชี้ขาดการคุ้มครองผู้บริโภค ปชช.ควรมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday January 28, 2015 10:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) /27 ม.ค.58) จากกรณีที่ครม.ได้เห็นชอบหลักการร่างกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับโดยมีเนื้อหาบางส่วนที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน วันนี้ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จัดการแถลงข่าววิเคราะห์ชุดกฎหมายดังกล่าว ขาดมิติในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบังคับใช้ พร้อมเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ และให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ สร้างหลักประกันให้แก่ผู้บริโภค และมีมาตรการเยียวยาความเสียหาย นายจุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวว่า ร่างพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา35 วรรค 3 ขาดมิติในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่มากเกินไปในการเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภค ควรมีการกำหนดกระบวนการป้องกันและสอบทานอย่างในการเข้าถึงข้อมูล “ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีความผิด ก็ควรกำหนดกระบวนการอย่างน้อย 2 ชั้นในการเข้าถึงข้อมูล โดยผ่านศาลให้อนุญาตก่อน และที่น่าสนใจคือทำไมร่างกฎหมายฉบับนี้ถึงถูกนำมาใส่ไว้กฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลแทนที่จะใส่ไว้ในกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเรื่องความผิดคอมพิวเตอร์” นายจุมพลกล่าว ทางด้าน นส.ชลลดา บุญเกษม คณะกรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตัลนี้ มีเนื้อหาที่ลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการมากกว่าผู้บริโภค มีเนื้อหาอธิบายความผิดไว้กว้าง ไม่ชัดเจนเพราะบอกว่า ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ “แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำผิด แต่ถ้าเกิดเราเป็นเพื่อนของผู้ทำผิด แล้วตามกฎหมายระบุไว้ว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดได้ ก็แสดงว่าข้อมูลส่วนตัวของเราถูกละเมิดแล้ว โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ” นส.ชลลดากล่าว นายรุจน์ โกมลบุตร คณะกรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าอยากให้คณะรัฐมนตรีทบทวนร่างกฎหมายทั้งหมดนี้ และต้องอธิบายให้ชัดเจนในกรณีที่มีการลิดรอนของสิทธิผู้บริโภค นอกจากนี้ควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการออกเสียง เพราะคนที่ได้รับผลกระทบก็คือภาคประชาชน “กฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าข้อมูลสามารถถูกตรวจสอบได้อย่างง่ายดายจากเจ้าหน้าที่รัฐฯ ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจในการมาลงทุน เพราะมีความกังวลในความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ เลย” นายรุจน์กล่าว ด้าน นส. บุญยืน ศิริธรรม คณะกรรมการองค์การอิสระฯ มองว่า การร่างกฎหมายดิจิตัลฉบับนี้ไม่ใช่การปฏิรูปประเทศ แต่เป็นการดึงอำนาจไว้ที่รัฐมากกว่า นอกจากนี้ถ้าเกิดกรณีมีนักธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของรัฐ ก็อาจเกิดการล้วงข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามได้ “กฎหมายนี้เหมือนการถอยหลังเข้าคลอง รัฐฯ ควรหาทางให้ กสทช. มีอำนาจในกำกับควบคุมเทคโนโลยี ไม่ใช่ดึงอำนาจไว้ที่รัฐอย่างเดียว” นส.บุญยืนกล่าว คณะกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในฐานะผู้ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายทั้งสิบฉบับ ดังนี้ 1. เนื่องจากกฎหมายดิจิทัลดังกล่าวมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้บริโภคทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งการนำข้อมูลของผู้บริโภคไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ดังนั้น ในกระบวนการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค 2. ขอให้มีการระบุเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างชัดเจน 3. เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม จากภาคประชาชนและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ขอเสนอให้มีการเพิ่มตัวแทนของผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการในร่างกฎหมายทุกฉบับด้วย 4. เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ตามร่าง พรบ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ที่อาศัยอำนาจกฎหมายไปในทางมิชอบพร้อมทั้งมีมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค 5. ในร่าง พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้มีการกำกับดูแลครอบคลุมถึงบรรดา ผู้ที่ส่งข้อความโฆษณารบกวน หรือ “สแปม” มาทาง SMS อีเมล์ หรือแม้กระทั่งสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ซึ่งสร้างความรำคาญและเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค 6. ในส่วนการแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตาม พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯ เห็นว่า กสทช.ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับกิจการควรคงความเป็นอิสระ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกสทช.ไม่ควรเอากลับเข้ามาอยู่ในกำกับของรัฐ แต่ควรแก้ไขด้วยการเพิ่มกลไกการตรวจสอบ การประเมินประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการ กสทช.ทุกชุด รวมทั้งการแก้ไขการถอดถอนให้ทำได้ง่ายมากขึ้นหากพบว่าการทำงานไม่มีประสิทธิภาพและมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ