โพลล์สำรวจความรู้สึกของวัยรุ่นต่อค่านิยมวันแห่งความรัก

ข่าวทั่วไป Tuesday February 17, 2015 12:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพและปริมณฑลต่อเทศกาลวาเลนไทน์และพฤติกรรมการแสดงความรักในสถานที่สาธารณะ วันที่ 14 กุมภาพันธ์เป็นวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นวันสำคัญของชาวตะวันตกแต่ประเทศไทยได้รับเอาวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรักเข้ามาในสังคมเช่นเดียวกับการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกอื่นๆ และได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นชายหญิง ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นมักใช้โอกาสในวันดังกล่าวบอกรักซึ่งกันและกันรวมถึงมีการมอบดอกกุหลาบหรือช็อคโคแลตให้แก่กัน นอกจากนี้กลุ่มวัยรุ่นส่วนหนึ่งยังนิยมชวนกันออกไปรับประทานอาหารและเที่ยวในคืนวันดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การหนีเที่ยวกลางคืน และการทะเลาะวิวาท เป็นต้น ขณะเดียวกันพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นที่เริ่มถูกพูดถึงจากสังคมและได้ปรากฏเป็นข่าวบ่อยขึ้นเรื่อยๆคือพฤติกรรมการแสดงความรักในสถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ บนพาหนะขนส่งสาธารณะ อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งกลายเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากสังคมเพราะถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะกับสังคมและวัฒนธรรมไทยอย่างมาก แต่พฤติกรรมดังกล่าวกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าว นักวิชาการ พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้คนทั่วไปในสังคมเริ่มออกมาแสดงความห่วงใยกับพฤติกรรมดังกล่าวควบคู่ไปกับการแสดงความห่วงใยต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มวัยรุ่นซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ให้ความนิยมกับเทศกาลวันวาเลนไทน์มากกว่าประชากรในกลุ่มอื่นๆและเป็นกลุ่มที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับพฤติกรรมการแสดงความรักในสถานที่สาธารณะในปัจจุบันควรได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นโดยสำนักวิจัยฯได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-12 กุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 1,156 คน อายุระหว่าง 19-22 ปี กลุ่มตัวอย่างคิดว่าเหตุการณ์มักเกิดขึ้นในคืนวันวาเลนไทน์คือ การล่วงละเมิดทางเพศคิดเป็นร้อยละ 83.56 การหนีเที่ยวกลางคืนคิดเป็นร้อยละ 81.14 และการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายคิดเป็นร้อยละ 78.81 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 78.03 เห็นด้วยกับการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐบริเวณหน้าสถานบันเทิง/โรงแรมม่านรูดในคืนวันวาเลนไทน์ เทศกาลวาเลนไทน์ปี พ.ศ. 2558 นี้ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพและปริมณฑลต่อเทศกาลวาเลนไทน์และพฤติกรรมการแสดงความรักในสถานที่สาธารณะ ศ.ศรีศักดิ์ กล่าวสรุปผลการสำรวจว่า ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.78 กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31.92 ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับเทศกาลวันวาเลนไทน์ มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 41.61 ที่ทราบว่า “วันวาเลนไทน์” มีที่มาจากวันที่ระลึกเพื่อฉลองนักบุญชื่อ “เซนต์ วาเลนไทน์” ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.39 ไม่ทราบ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองให้ความสำคัญกับเทศกาลวาเลนไทน์ในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 35.12 รองลงมาร้อยละ 29.67 ระบุว่าตนเองให้ความสำคัญน้อย โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.14 ยอมรับว่าตนเองให้ความสำคัญมาก และมีกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 20.07 ที่ระบุว่าไม่ให้ความสำคัญเลย สำหรับกิจกรรมในวันวาเลนไทน์นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.76 ระบุว่าตนเองตั้งใจจะออกไปเที่ยว/ทำกิจกรรมสังสรรค์เลี้ยงฉลองนอกบ้านในคืนวันวาเลนไทน์ ปี พ.ศ. 2558 นี้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.39 ระบุว่าตนเองตั้งใจจะอยู่บ้าน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.85 ยังไม่แน่ใจ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 62.37 ระบุว่าตนเองตั้งใจจะซื้อดอกกุหลาบ/ช็อคโกแลทมอบให้กับผู้อื่นในวันวาเลนไทน์ปี พ.ศ. 2558 นี้ ส่วนปัญหาสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่ามักเกิดขึ้นในคืนวันวาเลนไทน์คือ การล่วงละเมิดทางเพศคิดเป็นร้อยละ 83.56 การหนีเที่ยวกลางคืนคิดเป็นร้อยละ 81.14 และการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายคิดเป็นร้อยละ 78.81 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 78.03 เห็นด้วยกับการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐบริเวณหน้าสถานบันเทิง/โรงแรมม่านรูดในคืนวันวาเลนไทน์ ในด้านความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการแสดงความรักที่มากกว่าการจับมือกันของกลุ่มวัยรุ่นในสถานที่สาธารณะนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 54.58 ระบุว่าตนเองไม่เคยพบเห็นพฤติกรรมการแสดงความรักของกลุ่มวัยรุ่นที่มากกว่าการจับมือกันในสถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สวนสาธารณะ บนพาหนะขนส่งสาธารณะ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.42 ยอมรับว่าตนเองเคยพบเห็น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.47 ยอมรับว่าตนเองเคยรับชม/ได้รับคลิปวิดิโอ/รูปผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการแสดงความรักของกลุ่มวัยรุ่นที่มากกว่าการจับมือกันในสถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สวนสาธารณะ บนรถโดยสารสาธารณะต่างๆ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.47 มีความคิดเห็นว่าปัญหากลุ่มวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมการแสดงความรักที่มากกว่าการจับมือกันในสถานที่สาธารณะต่างๆจะมีแนวโน้มมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 80.71 มีความคิดเห็นว่าสังคมควรตำหนิผู้ที่มีพฤติกรรมการแสดงความรักมากกว่าการจับมือกันในสถานที่สาธารณะต่างๆ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.42 ไม่เห็นด้วยกับการนำเอาคลิปวิดีโอ/รูปของผู้ที่มีพฤติกรรมการแสดงความรักที่มากกว่าการจับมือกันในสถานที่สาธารณะต่างๆมาเผยแพร่/ส่งต่อๆกันเพื่อเป็นการประจาน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการปลูกจิตรสำนึกกับการลงโทษกลุ่มวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมการแสดงความรักที่มากกว่าการจับมือกันในสถานที่สาธารณะ วิธีใดจะช่วยลดพฤติกรรมดังกล่าวได้นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.44 มีความคิดเห็นว่าควรต้องทำทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.19 ระบุว่าวิธีการปลูกจิตรสำนึกจะช่วยลดพฤติกรรมดังกล่าวได้มากกว่าการลงโทษ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.37 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษจะช่วยลดพฤติกรรมดังกล่าวได้มากกว่า และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.53 มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดบทลงโทษพ่อแม่ผู้ปกครองที่บุตรหลานในปกครองของตนมีพฤติกรรมการแสดงความรักมากกว่าการจับมือกันในสถานที่สาธารณะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ