สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 9-13 ก.พ. 2558 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 16-20 ก.พ. 2558 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 18, 2015 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--ปตท. สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 4.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - Reuters รายงานเศรษฐกิจของเยอรมนีประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของยุโรป มียอดการส่งออกในเดือน ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.4% และสูงกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์ที่ 1.0% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.9 พันล้านยูโร อยู่ที่ 2.18 หมื่นล้านยูโร และดุลการค้าในปี 2557อยู่ที่ 2.17 แสนล้านยูโร สูงสุดเป็นประวัติการณ์ - Baker Huges รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.พ.58 ปิดดำเนินการ 83 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 1,140 แท่น ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 และเป็นปริมาณต่ำสุดตั้งแต่ ธ.ค. 54 ทั้งนี้จำนวนแท่นผลิตน้ำมันแบบ Horizontal ที่ใช้ผลิต Shale Oil ปรับลดลง 80 แท่น มาอยู่ที่ 1,080 แท่น - Reuters รายงานท่าส่งออกน้ำมันดิบทางตอนใต้ของอิรักประสบภาวะอากาศแปรปรวนส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบล่าช้าส่งออกได้เพียง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในวันที่ 1-10 ก.พ. 58 และคาดว่าไม่สามารถจะส่งออกตามแผนในเดือนนี้ที่ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน - OPEC เผยว่าราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC (Non-OPEC) เร็วกว่าที่คาด โดยคาดว่าอัตราการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่ม Non-OPEC ในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นเพียง 420,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 850,000 บาร์เรลต่อวัน และปรับเพิ่มความต้องการน้ำมันจากกลุ่ม OPEC (Call-on-OPEC)ในปี 2558 ขึ้น 430,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 29.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - Standard & Poor's (S&P) ลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลง 1 ขั้น สู่ระดับ B- จาก B จากภาวะสภาพคล่องตึงตัวซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อภาคธนาคารและเศรษฐกิจของกรีซ ขณะที่ Moody’s กำลังทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซซึ่งอยู่ที่ระดับ Caa1 และมีแนวโน้มปรับลดลง จากความไม่แน่นอนในการเจรจาเรื่องการชำระหนี้ระหว่างกรีซและเจ้าหนี้ - ภาวะเศรษฐกิจจีนไม่แข็งแกร่งจากมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค. 58 ลดลงจากปีก่อนที่ 3.3% และการนำเข้าลดลง จากปีก่อน 19.9% ต่างจากที่นักวิเคราะห์ประเมินการส่งออกจะเติบโตที่ 6.3% และ การนำเข้าลดลง 3% - Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE Brent ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.พ. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลงจากสัปดาห์ก่อน 6,468 สัญญา มาอยู่ที่222,501 สัญญา - EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.พ. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 417.9 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ปริมาณสำรองทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่5 สวนทางกับรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ ที่ลดลงเป็นอย่างมาก แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในปีนี้จากรายงานปริมาณแท่นขุดเจาะ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ ที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 54 และตัวเลขทางเศรษฐกิจทั่วโลกส่งสัญญาณเริ่มฟื้นตัว อาทิญี่ปุ่นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 4/57 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.2% และ GDP ยูโรโซนในไตรมาสที่ 4/57 อยู่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.9% โดยเยอรมนีประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของยุโรปมี GDPเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 0.7% สูงกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ที่จะเพิ่มขึ้น 0.3% ทั้งนี้ปัจจัยที่น่าจับตามองยังคงเป็นการเจรจาชำระหนี้ของกรีซและยูโรโซนในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะตัดสินว่ากรีซจะคงอยู่ในยูโรโซนหรือไม่ รวมถึงปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ในกลุ่มประเทศแอฟริกาเหนือ ไม่ว่าจะเป็นลิเบียหรือไนจีเรียที่ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบโลก และอาจเป็นแรงผลักดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวสูงขึ้น ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59 -63 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.12-60.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 92 RON ในเกาหลีใต้ สัปดาห์สิ้นสุดเดือน ม.ค. 58 ลดลงจากปีก่อน 23.8 % อยู่ที่ 1.30 เหรียญสหรัฐฯ/ลิตร และโรงกลั่นเรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดภาษีขายปลีกน้ำมันเบนซิน (ปัจจุบันอยู่ที่ 61.1 % ของราคาขายปลีก) และดำเนินมาตรการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์น้ำมันในประเทศ Reuters รายงาน Arbitrage Middle Distillates จากภูมิภาคตะวันออก อาทิ เอเชียและตะวันออกกลางไปตะวันตก อาทิ สหรัฐฯยังคงเปิด จากเหตุพนักงานโรงกลั่นในสหรัฐฯ หยุดงานประท้วงเพิ่มอีก 2 แห่งรวมเป็น 11 แห่ง คิดเป็น 13 % ของกำลังการกลั่นในประเทศที่ระดับ 17.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.02 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.36 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission, NDRC) ของจีนประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.21 หยวน/ลิตร 0.03 เหรียญสหรัฐฯต่อลิตร หรือ 4% เป็นครั้งแรกตั้งแต่กลางปี 2557 PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรปบริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 800,0000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 9.2 % อยู่ที่ 8.9 ล้านบาร์เรล ขณะที่ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.พ.58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.98 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 242.6 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.63-74.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มสูงขึ้น Reuters รายงาน ออสเตรเลียมีแนวโน้มนำเข้าน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น หลังจากโรงกลั่น Bulwer Island (120,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท BP ที่ Brisbane ปิดดำเนินการ ทั้งนี้ ในปัจจุบันออสเตรเลียนำเข้าน้ำมันดีเซล ปริมาณ 5.7 - 6.5 ล้านบาร์เรลต่อเดือน Platts รายงานโรงกลั่นน้ำมันในเกาหลีใต้ อาทิ Hyundai Oilbank มีแผนซ่อมบำรุง Crude Distillation Unit (CDU) หน่วยที่ 2 (280,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Fluid Catalytic Cracker Unit (FCCU: 68,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. 58 เป็นเวลาประมาณ 50 วัน EIA รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.พ.58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 131.2 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ IES รายงานปริมาณสำรองMiddle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.38 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.39 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม บริษัทน้ำมันแห่งชาติคูเวต (Kuwait National Petroleum Company, KNPC) ได้เริ่มดำเนินการโรงกลั่น Mina al-Almadi (442,000 บาร์เรลต่อวัน) โรงกลั่นขนาดใหญ่ที่สุดในคูเวต หลังทำการปิดซ่อมบำรุงกว่า 1 เดือน PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล ในยุโรปบริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5ก.พ. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 2.0 % อยู่ที่ 22.5 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.74 -76.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ