สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชน ต่อสารพันปัญหาการเมืองและสังคม กับความเหมาะสมในการปรับคณะรัฐมนตรีในขณะนี้

ข่าวทั่วไป Monday March 2, 2015 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อสารพันปัญหาการเมืองและสังคมกับความเหมาะสมในการปรับคณะรัฐมนตรีในขณะนี้: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 600 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2558 ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 41.4 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยยละ 39.7 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 14.9 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 3.2 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.8 ระบุไม่ได้ติดตามเลย ทั้งนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามต่อไปถึงความคิดเห็นต่อประเด็นสำคัญทั้งทางด้านสังคมและการเมืองของประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาได้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจต่อประเด็นเหล่านั้น ในมุมมองที่หลากหลาย โดยเมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีที่มีข่าวว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.บางส่วนได้มีการแต่งตั้งคนในครอบครัว/คนใกล้ชิดเข้ามาช่วยงาน นั้นพบว่า ร้อยละ 12.4 ระบุเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า คิดว่าคนใกล้ชิดน่าจะเข้าใจกันได้ดีกว่า/จะได้ทำงานง่ายขึ้น/การทำงานต้องการคนที่ไว้ใจได้/ถ้ามีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมก็น่าจะทำได้/การทำงานจะได้คล่องตัวมากขึ้น/ใครก็ได้ขอให้มีความซื่อสัตย์สุจริต อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนประมาณครึ่งหนึ่งคือ ร้อยละ 56.3 ระบุไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า อยากให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ มาทำงาน/อยากให้มีความคิดที่หลากหลายในการทำงาน/เป็นการทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อ สนช.เอง/ทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่ดี/ควรเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความสามารถ/จะเกิดข้อครหาได้/ถึงแม้จะเจตนาดี แต่ก็ไม่ควรทำ/อาจจะดูไม่โปร่งใส/อาจมีการเอื้อผลกระโยชน์ต่อกัน ทั้งนี้ ร้อยละ 31.3 ระบุเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไรกับเรื่องนี้ และเมื่อสอบถามความรู้สึกต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฎเป็นข่าวในขณะนี้นั้น พบว่า ร้อยละ 61.1 ระบุรู้สึกวิตกกังวลกับเรื่องนี้ เพราะเป็นสถาบันหลักของชาติ/ ศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย/ไม่อยากให้มีการขัดแย้งกัน/กลัวศาสนาจะตกต่ำไม่มีคนเชื่อมั่นอีกต่อไป/กลัวการแทรกแซงจากผู้ไม่หวังดี/ไม่ควรมีการแบ่งแยกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ในขณะที่ร้อยละ 38.9 ระบุไม่รู้สึกวิตกกังวล เพราะ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการได้/ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว เพียงแต่ยังไม่เป็นข่าว/ การแบ่งแยกเกิดขึ้นนานแล้ว/เป็นสัจธรรม/เชื่อมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามากกว่าเรื่องอื่น /ไม่ให้ความสนใจเรื่องแบบนี้ ตามลำดับ ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือประเด็นเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานพลังงาน โดยคณะผู้วิจัยได้สอบถามความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีการเปิดสัมปทานรอบต่อไป ที่ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างอย่างประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 63.0 ระบุรู้สึกมีความสุข เพราะแสดงว่านายกรัฐมนตรีใส่ใจในความคิดเห็นของประชาชน/นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับประชาชนจริงๆ/ อยากให้มีข้อมูลรายละเอียดที่มากพอ ก่อนที่จะตัดสินใจ/ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคมขึ้นมาอีก/จะได้มีเวลาเตรียมการป้องกันความเสียหายไว้ล่วงหน้าได้ ในขณะร้อยละ 15.0 ระบุไม่มีความสุขเพราะ เกรงว่าจะช้าเกินไป /กลัวว่าประเทศจะขาดแคลนพลังงาน/กลัวประเทศชาติจะเสียผลประโยชน์/ถึงจะเลื่อนไปก็คงมีคนคัดค้านอยู่ดี/ไม่อยากให้เสียเวลา/กลัวประชาชนจะเดือดร้อนถ้าราคาพลังงานไม่นิ่ง และร้อยละ 22.0 ไม่มีความเห็น นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงสิ่งที่อยากให้รัฐบาลและ คสช.เร่งดำเนินการในขณะนี้ นั้นพบว่า ร้อยละ 90.5 ระบุอยากให้เร่งดำเนินการเรื่องการปราบปรามยาเสพติด รองลงมาคือร้อยละ 85.8 ระบุการช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ/การจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้ประชาชน ร้อยละ 71.3 ระบุการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ร้อยละ 70.8 ระบุการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ร้อยละ 66.5 ระบุการส่งเสริมตลาดชุมชน นอกจากนี้ร้อยละ 65.7 ระบุการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ร้อยละ 65.3 ระบุการแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงของไทย ร้อยละ 64.5 ระบุการเตรียมจัดหาแรงงานที่มีฝีมือเพื่อใช้ภายในประเทศ ร้อยละ 62.2 ระบุการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยให้แล้วเสร็จ ร้อยละ 61.8 ระบุการลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ร้อยละ 60.7 ระบุการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 51.3 การเตรียมการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ตามลำดับ ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีและการปรับคณะรัฐมนตรี โดยคณะผู้วิจัยได้เริ่มสอบถามถึงความพึงพอใจที่มีต่อผลงานของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน และพบว่าตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 90 พอใจผลงานของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ในระดับค่อนข้างมาก-มากที่สุด โดยให้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.06 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความเหมาะสมของเวลาว่าควรจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีในขณะนี้หรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนประมาณ 1ใน 3 หรือร้อยละ 37.2 ระบุคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว โดยให้เหตุผลว่าบางกระทรวงยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจน /อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่านี้/อยากได้คนที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งมากกว่านี้/การบริหารงานจะได้มีความคล่องตัวมากขึ้น ในขณะที่แกนนำชุมชนประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 54.2 เห็นว่ายังไม่เหมาะสม เพราะทำงานดีอยู่แล้ว / ยังอยากให้โอกาสทำงานต่อไป /งานอาจจะยังไม่เข้าที่เข้าทาง ต้องให้เวลามากกว่านี้/พอใจในผลการดำเนินงานแล้ว/ ถ้าเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เกรงว่าการดำเนินงานจะไม่คืบหน้า/ยังอยู่ในระหว่างการเรียนรู้งาน/เชื่อว่าทุกกระทรวงมีความตั้งใจจริงในการทำงานเพื่อประชาชน ทั้งนี้ร้อยละ 8.7 ระบุไม่แน่ใจ/ไม่มีความเห็น และเมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อไปว่า ถ้าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี กระทรวงใดบ้างที่เห็นว่าควรมีการปรับนั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 49.5 ระบุเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้เหตุผลที่ควรปรับว่า ยังแก้ไขปัญหาเกษตรไม่ได้/ราคาผลผลิตทางการเกษตรยังไม่ดีขึ้น /อยากให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น/อยากให้มีคนมาลงพื้นที่ดูปัญหาอย่างจริงจังบ้าง รองลงมาคือร้อยละ 23.1 ระบุกระทรวงมหาดไทย เพราะยังไม่เห็นผลงานชัดเจน /ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ/อยากได้คนที่มีประสบการณ์โดยตรง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ/ยังไม่เห็นความคืบหน้าด้านการปรับปรุงกฎหมาย ร้อยละ 14.7 ระบุกระทรวงศึกษาธิการ เพราะ ยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจนของการศึกษาไทย /ตอนนี้ระบบการศึกษาของไทยแย่ลงเรื่อยๆ /อยากให้เด็กไทยมีคุณภาพมากกว่านี้ /อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องการศึกษาโดยเร็ว ร้อยละ 14.4 ระบุกระทรวงพาณิชย์ เพราะ การดำเนินงานยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร/มีแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยังไม่เห็นทิศทางในระยะยาว ร้อยละ 9.4 ระบุกระทรวงพลังงาน เพราะข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานยังไม่ชัดเจน /อยากให้เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนมากกว่านี้/อยากให้จัดระบบราคาพลังงานให้ดีกว่านี้/อยากให้โปร่งใสมากกว่านี้ ร้อยละ 7.0 ระบุกระทรวงคมนาคม เพราะเส้นทางการคมนาคมยังลำบาก /อยากให้ทำงานเร็วกว่านี้ เพราะประชาชนเดือดร้อนเรื่องการเดินทาง/คุณภาพระบบการขนส่งมวลชนยังไม่ดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 21.0 ระบุกระทรวงอื่นๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงระยะเวลาที่ให้โอกาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไปนั้น ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนส่วนใหญ่ยังคงให้โอกาสในการทำงานต่อไป โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.9 ระบุให้โอกาสทำงานจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้เรียบร้อย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ