สกย.จ.ระยอง ลงพื้นที่เขาชะเมา เผยแพร่ ความรู้การ ผสมปุ๋ยใช้เอง หวังลดต้นทุนให้ชาวสวนยาง และใช้เวลา ว่างในช่วงปิดกรีด ให้เกิดประโยชน์

ข่าวทั่วไป Tuesday March 3, 2015 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กองประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เมื่อเร็วๆ นี้ สกย.จ.ระยอง ลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยาง ประมาณ 40 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต หวังพัฒนาคุณภาพดินในพื้นที่ให้มีคุณภาพ และใช้เวลาว่างในช่วงปิดกรีดยางให้เกิดประโยชน์สูงสุด นายไพบูลย์ กิตติพงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดระยอง (ผอ.สกย.จ.ระยอง) เปิดเผยถึง โครงการฯ ดังกล่าวว่า เป็นการส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้รับความรู้ในเรื่องวิธีการผสมปุ๋ยและการดูแลรักษาสวนยางระยะก่อนและระหว่างให้ผลผลิต อีกทั้ง เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยผสมให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ ทางสกย.จ.ระยอง ยังเน้นจัดโครงการฝึกอบรมในหลักสูตรอื่นๆ ที่สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพารา เช่น การทำยางแผ่นคุณภาพเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้มีการเตรียมความพร้อมด้านคุณภาพผลผลิตเพื่อสามารถเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือของภาครัฐต่อไป อาทิ โครงการเปิดตลาดให้บริการซื้อขายยางของระบบตลาดยาง สกย. สู่ระบบเครือข่ายตลาดกลางยางพารา ตามโครงการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นต้น หากเกษตรกรท่านใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สกย.จ.ระยอง เบอร์โทร 038- 611-246 และ 038—614-701 ด้านนายกิตติชัย เหลี่ยมวานิช หัวหน้าแผนกพัฒนานิเทศ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.ระยอง กล่าวว่า การปลูกยางพาราไม่เพียงแต่จะใช้วัสดุปลูกชนิดใด ภายหลังการปลูกไปแล้วย่อมจะมีต้นยางที่มีความเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ส่วนจะมีมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความสมบูรณ์ของวัสดุที่ใช้ปลูก สภาพภูมิอากาศ การใส่ปุ๋ยผสม การดูแลรักษาสวนยาง ผลจากการทำลายของโรคและแมลง เป็นต้น เป็นที่ทราบกันดีว่าในการเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำยางจากสวนยางพาราที่ผ่านการบำรุงดูแลมาอย่างดีตั้งแต่เริ่มต้นนั้น เราสามารถเก็บเกี่ยวและจำหน่ายน้ำยางเพื่อสร้างรายได้นานนับ 25-40 ปี ดังนั้น สกย.จ.ระยอง จึงเล็งเห็นความสำคัญกับการใช้ปุ๋ยผสมและการดูแลรักษาสวนยางระยะก่อนและระหว่างเก็บเกี่ยวให้ผลผลิตเป็นอย่างมาก ซึ่งจะต้องคุ้มค่ากับการลงทุน จึงมีโครงการฝึกอบรมเจ้าของสวน หลักสูตร ลดต้นทุนการผลิต (การใช้ปุ๋ยผสมและการดูแลรักษาสวนยางระยะก่อนและระหว่างเก็บเกี่ยวให้ผลผลิต) ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางได้ผลผลิตที่คุ้มค่า ยาวนาน ลดต้นทุนการผลิตและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสวนยางพารา ที่สำคัญ นอกจากเกษตรกรจะได้รับความรู้แล้ว ยังได้สร้างความสามัคคี และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จากการฝึกลงมือปฏิบัติการผสมปุ๋ยเคมีใช้เองด้วย นายสมจิตร โพธิ์แก้ว เกษตรกรชาวสวนยางผู้เข้าอบรมหลักสูตรการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง เผยว่า ปัจจุบันตนเองมีสวนยาง 45 ไร่ อายุยางประมาณ 12-13 ปี เป็นพันธุ์ RRIM 600 ใช้ระบบกรีดยาง แบบ กรีด 3 วันเว้น 1 วัน (เนื่องจากในพื้นที่มีข้อจำกัดเรื่องแรงงาน แต่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถกรีดได้ 3 วัน แต่ในความเป็นจริงควรจะกรีด 2 วัน เว้น1 วัน เพื่อรักษาไม้ยาง) ซึ่งจะได้ปริมาณผลผลิตยางก้อนถ้วยประมาณ 400 กว่ากิโลกรัม ต่อ 15 ไร่ แต่ทั้งนี้ เมื่อเข้าอบรมหลักสูตรการผสมปุ๋ยใช้เองแล้ว พบช่องทางในการประหยัดต้นทุนของเรามากขึ้น เนื่องจากเดิมที่ปฏิบัติมา ผมเคยใส่ปุ๋ยประมาณ 2-3 ตัน หรือ 500 กิโลกรัมต่อครั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์และต้นทุนก็สูง นอกจากนี้ ยังมีการนำขี้ไก่มาใส่เป็นเล้าๆ ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร (ปุ๋ยคอกใส่ครั้งหนึ่งต้นทุนประมาณ 2-3 หมื่นบาท ส่วนปุ๋ยเคมีก็อยู่ที่ 1หมื่นกว่าบาท) จึงเปลี่ยนมาเป็นใส่ปุ๋ยอินทรีย์สลับกับใส่ปุ๋ยเคมี ทำให้ผลผลิตออกมาดีแต่ก็ยังประสบกับปัญหาต้นทุนสูง “การอบรมหลักสูตรการผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นประโยชน์ในเรื่องของการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้อย่างดียิ่ง ซึ่งพืชต้องการธาตุอาหารสูงอยู่แล้ว เราก็ต้องดูแล แต่ทำอย่างไรให้ดูแลผลผลิตได้ดี ควบคู่กับประหยัดด้วย” นอกจากนี้ จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับอาชีพการทำสวนยางมา 40-50 ปี เล็งเห็นประโยชน์ของไม้ยางที่สามารถสร้างช่องทางและรายได้อีกทางหนึ่ง จึงผันแปรตัวเองเป็นผู้รับซื้อไม้ยาง ซึ่งเป็นอาชีพเสริมกับการทำสวนยางควบคู่ด้วย นายสมจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เวลากรีดยาง หากกรีดถี่เกินไปเนื้อไม้ก็จะเป็นวงดำๆ ไม่สวย คล้ายๆ กับน้ำเลี้ยงไม่พอ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีมือการกรีดยาง ส่งผลกระทบไปถึงคนทำไม้ด้วย การดูแลต้นยางรวมไปถึงเนื้อไม้ คือ ควรใช้ระบบกรีด 2 วันเว้น 1 วัน จะไม่ทำให้ไม้เสีย ไม่เป็นลาย ขายได้ราคา ในด้านธุรกิจไม้ก็จะดีตาม สามารถไปเหมาไม้ได้ในราคาสูง จะช่วยเกษตรกรได้เยอะ นอกจากนี้การปลูกพันธุ์ RRIM 600 ในแถบบ้านเราจะให้ผลผลิตเนื้อไม้ดีและได้ราคาดี ในขณะที่ พันธุ์ RRIT 251 ต้นจะเตี้ย ขายไม่ค่อยได้ราคา แต่ก็สามารถกรีดขายได้น้ำยางดี ก็อยู่ที่เกษตรกรเจ้าของสวน จะเลือก”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ