โชว์ "เรือต้นแบบ" ประมงที่ดี หวังนายจ้างทำตามกันช่วยหลุดพ้นเทียร์ ๓ และรอดพ้นฝันร้าย IUU

ข่าวทั่วไป Friday March 6, 2015 18:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--กระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงานลงพื้นที่ตามนโยบาย รมว.แรงงาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ พบเรือต้นแบบประมงที่ดี ปฏิบัติตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมง ไร้แรงงานทาส ลูกจ้างอยู่ดีมีสุข ได้สิทธิครบ อุปกรณ์ตามเกณฑ์ต่อต้านประมงผิดกฎหมาย ขาดรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) หวังนายจ้างทำตามกันให้หลุดพ้นเทียร์ ๓ ขจัดภาพประเทศไทยแหล่งค้ามนุษย์ เล็งหาแหล่งทุนสนับสนุนกิจการประมงที่ดี ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน พร้อมนายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจท่าเรือทรัพย์ดาว ๔ ตำบล ท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการว่า นโยบาย รมว.แรงงาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ชัดเจนในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ และต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมหรือที่เรียกว่าการทำประมงแบบ IUU แต่หลังจากการตรวจเรือที่ท่าเรือดังกล่าวพบเรือประมงขนาด ๒๐๐ ตันกรอส ที่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงโดยมีห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว เครื่องเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดดื่มได้ มีห้องพยาบาล และมีบุรุษพยาบาลประจำเรือ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า นายจ้างของเรือดังกล่าวนี้ได้มีการจัดทำสัญญาจ้างการทำงาน ทะเบียนแรงงาน ไม่มีการใช้ลูกจ้างอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี และจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าวันละ ๓๐๐ บาท นอกจากนี้ได้มีการติดตั้ง ระบบติดตาม Vessel Monitoring System (VMS) ซึ่งจะทำให้ทั้งเจ้าของเรือและเจ้าหน้าที่รัฐที่ศูนย์ควบคุมทราบเส้นทางการเดินเรือ จึงน่าจะเป็นต้นแบบตัวอย่างเรือประมงที่ดี ทำตามข้อกำหนดสากล ไร้แรงงานทาส ลูกจ้างอยู่ดีมีสุขในการทำงานบนเรือ “ถ้าเจ้าของเรือนอกน่านน้ำทุกลำทำตามเรือต้นแบบนี้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยหลุดจากเทียร์ ๓ เรื่องค้ามนุษย์ ไม่มีแรงงานทาส หลุดจากถูกคาดโทษเรื่อง IUU และรอดพ้นจากการกีดกันทางการค้าหลายแสนล้านบาท ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับอุตสาหกรรมประมง โดยรวมเองก็จะส่งผลให้ประเทศชาติสามารถรักษาผลประโยชน์ชาติและของประชาชนทั้งประเทศไว้ได้ ส่วนประมงพื้นบ้านหลายหมื่นลำนั้นก็จะมีมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาลในการดูแลเพื่อไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายต่อไป” ดร.นพดล กล่าว นายศุภณัฎฐ์ เชาว์เจริญภัทร์ เจ้าของท่าเรือทรัพย์ดาว ๔ กล่าวว่า ขณะนี้ท่าเรือทรัพย์ดาว ๔ มีเรือประมงทั้งสิ้น ๑๑ ลำ ออกไปทำประมงอยู่เขตน่านน้ำประเทศปาปัวนิวกีจำนวน ๙ ลำ มีเรือที่เป็นต้นแบบและทันสมัยอย่างที่เห็น จำนวน ๔ ลำ โดยออกไปทำประมงแล้ว ๒ ลำ อีกที่เหลือ ๒ ลำ กำลังจะปล่อยออกเดินทางเร็วๆนี้ มีลูกเรือประมง ประมาณ ๔๐๐ คน ทั้งหมดเป็นคนไทย เรือลำหนึ่งจะมีลูกเรือประมาณ ๒๕-๓๘ คน ระยะเวลาออกเรือลำหนึ่งนาน ๕-๖ ปี แต่ลูกเรือจะอยู่ประมาณ ๒ ปี แล้วจะมีเรือแม่ไปรับกลับบ้าน กำหนดให้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดือนละ ๙,๐๐๐ บาท แต่ไต้ก๋งเรือจะได้รับประมาณสองหมื่นกว่าบาทต่อเดือน โดยตกลงโอนเข้าบัญชีให้ลูกจ้างแต่ละคน มีการแจ้งทะเบียนลูกจ้างให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการทราบทุกครั้ง ที่มีการออกเดินเรือหรือเมื่อมีการปรับเปลี่ยน พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานกำหนด แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตอาจจะใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งได้เคยประสานติดต่อพูดคุยผ่านทางสมาคมประมงว่าหากต้องการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานด้วย จะตกลงจ้างเป็นชุดทีมงานของเขาทั้งหมด ทั้งนี้ นายศุภณัฎฐ์ เชาว์เจริญภัทร์ ได้เสนอให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเรื่องการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยให้ผู้ประกอบการกู้ยืมเงินเพื่อต่อเรือ เพราะมองว่าเรือเป็นทรัพย์ลอยน้ำมีความเสี่ยงสูง ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาประมงที่ผิดกฎหมายมีมาหลายรัฐบาล และไม่เคยแก้ไขได้สำเร็จ รัฐบาลชุดปัจจุบันโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ได้มีดำริเรื่องการส่งเสริมกิจการประมงที่ดีเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ปล่อยปละละเลยกันมานาน และวันนี้เราได้พบตัวอย่างเรือต้นแบบประมงที่ดี มีการจ้างงาน คนไทยทุกคนบนเรือ และมีการขยายกิจการลงทุนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีโจทย์ที่ต้องนำไปศึกษาเพิ่มเติม เช่น หลักประกันด้านอาชีพของลูกจ้างคนไทยบนเรือประมง และกองทุนสนับสนุนกิจการประมงที่ดีเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและลูกจ้าง เพื่อนำเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ