“ปีติพงศ์” ลุยตรวจภัยแล้งเมืองจันท์ ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกไม่รุนแรง ย้ำกรมชลฯ และกรมฝนหลวงฯเฝ้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด หวั่นกระทบผลไม้ที่กำลังจะออกดอกของเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2015 12:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมืองจันทบุรี ตามแนวทางพระราชดำริฯ และติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้งช่วยเหลือเกษตรกรที่คลองวังโตนด บริเวณทำนบดิน ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ พร้อมปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำช่วยเหลือเกษตรกร ดูงานการบริหารจัดการของกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองวังโตนด พร้อมเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่สนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ว่า โครงการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งจังหวัดจันทบุรี คลองบายพาสตามแนวพระราชดำริ ตรงจุดเชื่อมต่อฝายยางกับแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2558 จะสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตเมืองได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ภาคการเกษตรของเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่คลองพาดผ่าน ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำในแม่น้ำจันทบุรี คลองวังโตนด มีเพียงพอกับฤดูแล้งที่เหลือไว้สำหรับขาวสวนสองฝั่งแม่น้ำจะสูบไปใช้ได้ ร่วมกับยังมีปริมาณฝนยังตกอยู่ในบางพื้นที่ ก็คาดการณ์ว่าแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกในภาพรวมขณะนี้ยังถือว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้เตรียมการในเรื่องสถานีสูบน้ำไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำไว้ให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะสวนผลไม้ของเกษตรกรที่กำลังอยู่ในช่วงติดดอก ออกผล สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก จำวน 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯระยอง และ หน่วยฯ จันทบุรี เพื่อขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก สระแก้ว และปราจีนบุรี โดยพื้นที่ที่ต้องการฝนจะมีทั้งพืชไร่ ได้แก่ สับปะรด มันสำปะหลัง ลำไย ทุเรียน ลองกอง กล้วยไข่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งสภาพอากาศขณะนี้ได้รับอิทธพลจากลมฝ่ายตะวันออกนำความชื้นจากทะเลเข้าปกคลุมเป็นระยะๆส่งผลให้สามารถวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงได้ในบางพื้นที่ การตกของฝนยังปกคลุมพื้นที่แคบๆ และมีปริมาณไม่มาก หลังจากนั้นคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปตรวจติดตามงานแก้ปัญหาภัยแล้งช่วยเหลือเกษตรกร ที่สถานีสูบน้ำบ้านพลับพลา ตำบลพลับพลา อำเภอเมือง จันทบุรี ที่มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ซึ่งทดน้ำจากคลองสระบาปกลับไปให้เกษตรกรที่อยู่ในจุดที่คลองไม่ไหลผ่าน ด้านนายกล้าณรงค์ พงษ์เจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยถึง สถานการณ์ภัยแล้งและผลกระทบในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ว่า สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดจันทบุรีปีนี้ จังหวัดได้ประกาศให้ 9 อำเภอ จาก 10 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง มีราษฎรได้รับผลกระทบ 52 ตำบล 487 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 56,535 ครัวเรือน 186,025 คน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ 691,948 ไร่ ทั้งนี้ ประชาชนและเกษตรสามารถติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศประจำวัน และการปฏิบัติการฝนหลวงโดยสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นกรมชลประทาน " WMSC" และแอพพลิเคชั่น "ฝนหลวง" ได้ฟรี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ