เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินนอนประท้วงคว่ำบาตร EIA ท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้ว

ข่าวทั่วไป Wednesday March 11, 2015 11:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินและภาคีเครือข่าย (1) จำนวน 40 คน นอนประท้วงบนพื้นหน้าอาคารสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยแต่ละคนมีข้อความว่า “No Coal” บนฝ่าเท้าสองข้าง เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้วและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกะวัตต์ที่จังหวัดกระบี่ และเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบ EIA/EHIA โดยทันที กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่จะพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้วซึ่งจะมีขึ้นในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินระบุว่า การจัดทำรายงาน EIA โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จังหวัดกระบี่เป็นกระบวนการที่ขาดความชอบธรรม มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าถึงและตรวจสอบรายงาน นอกจากนี้ ข้อมูลที่นำเสนอในรายงาน EIA นั้นไม่รอบด้านและประเมินผลกระทบต่ำกว่าความเป็นจริง "บ้านคลองรั้วมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร มีกุ้ง กุ้งมังกร หอย ปู ปลา ซึ่งถูกจับด้วยวิธีประมงพื้นบ้านด้วยเรือหัวโทง บริเวณช่องแหลมหิน เกาะปู เกาะจำ เกาะศรีบอยา จึงเป็นพื้นที่หากินของเรือประมงทั้งจากบ้านคลองรั้วและเรือจากพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 400 ลำ ปูม้าของพื้นที่นี้ถูกส่งมาจำหน่ายที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของคนในพื้นที่" "เนื้อหาของรายงาน EIA โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ละเลยความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ (Krabi river estuary) และมองข้ามคุณค่าของระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญรวมทั้งวิถีชีวิตชาวประมงท้องถิ่นบนฐานการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่(2)"นายสมนึกกล่าวเพิ่มเติม ในเอกสาร "สรุปความเห็นต่อกระบวนการและการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ของ กฟผ." (3) ที่เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินส่งถึงเลขาธิการ สผ. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณาโครงการ ลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 ยังระบุด้วยว่า โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วขัดกับกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขัดกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในส่วนที่ 3 ที่ห้ามการใช้ประโยชน์ในที่ดินและห้ามทำกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่เขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณค่าสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างท่าเทียบเรือถ่านหิน ซึ่งรวมถึงการสร้างแนวกันคลื่น 1 กิโลเมตร จะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง สูญเสียผืนแผ่นดินและผืนป่าชายเลน การลำเลียงถ่านหินผ่านสายพานจะตัดผ่านป่าชายเลน ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ดำเนินโครงการ นอกจากนี้ กิจกรรมการเดินเรือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือนี้จะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำกระบี่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลอินทรีย์ต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักและท้ายสุดกลายเป็นซูเปอร์ไฮเวย์ถ่านหิน เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินยังได้ยื่นรายชื่อผู้ร่วม "ปกป้องกระบี่" 44,000 รายชื่อ ที่เป็นพลังเรียกร้องให้กระบี่ยังคงเป็นพื้นที่ที่คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและปราศจากภัยคุกคามถ่านหิน "ผู้คนหลายหมื่นคนเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) คณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนและสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่อนุมัติ EIA โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินพร้อมยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่โดยทันที เพราะผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้นสูงเกินกว่าที่สังคมจะแบกรับได้" นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว หมายเหตุ : (1) เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินประกอบด้วย 1.กลุ่มรักลันตา 2.กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย 3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา 4.สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา 5. มูลนิธิอันดามัน 6. ศูนยสร้างเสริมจิตสานึกนิเวศวิทยา 7. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 9. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพฒันาเอกชนภาคใต้(กปอพช) 10.โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้ 11.กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง 12.กลุ่มรักษ์อันดามัน 13.กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัยจังหวัดกระบี 14. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ 15. เครือข่ายประมงพื้นบ้านจงัหวัดกระบี่ 16.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน 17.เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน 18. เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ 19. เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน 20. เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย Thailand Coal Network 21.เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Coal Network 22.มูลนิธินโยบายสุขภาวะ23. เครือข่ายนักวิชาการ EIA EHIA Watch Thailand 24. สมาคมคนรักษ์เลกระบี่ 25. มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย 26. กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเกาะกลาง จ.กระบี่ ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนพัฒนาเมืองเทพา และเครือข่ายปกป้องพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง (2) ในเดือนตุลาคม 2557 เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินได้นำเสนองานวิจัยวิถีชีวิตและความหลากหลาย ทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ หรือ “งานวิจัยมหาลัยเล” โดยข้อมูลที่ระบุในรายงานมีจำนวนและชนิดพันธุ์ของสัตว์ทะเลที่พบเบื้องต้นในการศึกษามากกว่าการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำ กระบี่ที่ผ่านมา บทสรุปผู้บริหารของสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/krabi-research-progress-report/ (3) ดาวน์โหลด เอกสาร “สรุปความเห็นต่อกระบวนการและการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ของ กฟผ.” ได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/PageFiles/660589/ProtectKrabiFullreport.doc.pdf (4) ดาวน์โหลดแถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการ EHIA ต่อรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมฯ โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/PageFiles/660589/ehia_network.pdf ข้อมูลเพิ่มเติม: สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร. 081 929 5747 อีเมล:spanasud@greenpeace.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ