เสวนาเวทีสาธารณะทีวีบริการสาธารณะช่อง 10 นักวิชาการห่วงหน่วยงานรัฐหันเป็นสื่อมวลชน

ข่าวเทคโนโลยี Friday March 13, 2015 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--NBTC Rights น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวในการเสวนาสาธารณะ (Public Forum) “ช่อง ๑๐ ทีวีบริการสาธารณะกับความคาดหวังของประชาชน” ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นขอรับอนุญาตทีวีสาธารณะเพียงรายเดียว ขณะนี้ เตรียมพิจารณาให้ใบอนุญาตทีวีสาธารณะให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลบริการสาธารณะ ประเภทที่สาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน ซึ่งขั้นตอนได้ผ่านมา 1 ปีแล้วการจัดเวทีวันนี้ เพื่อต้องการเปิดพื้นที่ให้สำนักเลขาธิการรัฐสภาได้สังคมได้รับรู้ พร้อมเป็นโอกาสอันดีในการรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคสังคม น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า กังวลเรื่องความเป็นอิสระของโทรทัศน์รัฐสภา เพราะภาคการเมืองอาจใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสาร แต่เมื่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นแผนเข้ามาก็เห็นว่ามีความตั้งใจจริงในการตั้งคณะกรรมการนโยบาย(บอร์ดนโยบาย) ซึ่งมีสัดส่วนของนักวิชาการ 2 คน แต่หากมีสัดส่วนภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วยก็จะเสริมให้ทิศทางโทรทัศน์รัฐสภาชัดเจนขึ้น ด้าน ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่สำนักงาน กสทช. จะให้ใบอนุญาตโทรทัศน์สาธารณะกับหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันมีสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) ก็เกินพอ รวมทั้งโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอมานั้น ไม่มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม อาจไม่สะท้อนความเป็นอิสระ ซึ่งไม่มั่นใจว่าจะแตกต่างจากช่อง 11 ได้แค่ไหน “หากดูเนื้อหาตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอเข้ามา มีความกังวลว่าอยู่ในกรอบการประชาสัมพันธ์รัฐบาล ซึ่งปัจจุบันก็มีช่อง 11 ทำแล้ว หากจะทำก็ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ตามวัตถุประสงค์ เช่น การให้ความรู้ด้านประชาธิปไตย การสร้างความเข้าใจในการผลักดันกฎหมายต่าง ๆ เข้าสภา ควรใช้โอกาสนี้สื่อนำเสนอ ว่าใครเสนอเรื่องนี้เข้ามา เพื่อทำให้เกิดประชาธิปไตยที่กินได้สัมผัสได้ แล้วจะทำให้ทีวีช่องนี้สมาร์ท ต้องทำให้ทีวีช่องนี้อยู่ในฟากประชาชนมากกว่าฟากการเมือง” ดร.เอื้อจิต กล่าว น.ส.สุภาสินี ขมะสุนทร รองเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า บอร์ดนโยบายทั้งหมด 18 คน ไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ยืนยันว่าช่วงที่เกิดวิกฤตการเมือง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้าราชการรัฐสภาได้ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง ท่ามกลางข้อซักถามต่าง ๆ และสาเหตุที่ให้ผู้อำนวยการสำนักงานประมาณเข้าร่วมเป็นบอร์ดด้วยนั้น เพราะโทรทัศน์รัฐสภาไม่สามารถหารายได้ งบประมาณรัฐจึงเป็นแหล่งเงินเดียวที่สนับสนุนอยู่ในปัจจุบัน และสิ่งที่ต้องทำจากนี้ คือการทำให้เห็นความเป็นอิสระของสถานี รวมทั้งการดำเนินการจัดทำแผนในเรื่องอื่นๆที่สำคัญ ตลอดจนศึกษาโมเดลทีวีสาธารณะในต่างประเทศ นางสาวสุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมภายหลังได้รับฟังความเห็นจากเวทีครั้งนี้ว่า ตนและ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ มีแนวคิดเสนอกรรมการ กสท. ให้จัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ประเภทบริการสาธารณะ (เกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์) เพื่อให้มีกระบวนการที่รอบคอบ ครบถ้วน กับทีวีสาธารณะช่องอื่นๆต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ