รณรงค์ลดโรคไต เนื่องในวันไตโลก 2015

ข่าวทั่วไป Monday March 16, 2015 10:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--คอมมูนิเคชั่นแอนด์มอร์ โรคไตวายเรื้อรัง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือรณรงค์ป้องกันเพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้ในประชากรโลกที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว องค์กรด้านโรคไตนานาชาติ จึงได้กำหนดให้ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น “วันไตโลก” ซึ่งในปี 2558 นี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงอันตราย และร่วมหาแนวทางป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง ศ.เกียรติคุณ พญ.ธัญญารัตน์ ธีรพรเลิศรัฐ ประธานฝ่ายการศึกษาวิชาการและฝึกอบรม โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เปิดเผยถึงอุบัติการณ์โรคไตในคนไทยว่า จากการศึกษาเมื่อ 5 ปีก่อน พบว่าคนไทยผู้ใหญ่เป็นโรคไต 8 ล้านคน จำนวนนี้เป็นผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือปลูกถ่ายไต 4 หมื่นคน ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสถิติการสำรวจล่าสุดเมื่อปีพ.ศ.2555 พบว่าสูงถึง 58,385 ราย และมีผู้ป่วยใหม่ถึงปีละ 14,249 ราย การรักษาโดยการทำไตเทียม มีค่าใช้จ่ายสูงมาก คนละ 2 แสนบาทต่อคนต่อปี ถ้าคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยทั้งประเทศจะสูง 8,000 ล้านบาทต่อปี นับเป็นภาระหนักของผู้ป่วย ครอบครัว และเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่เป็นทรัพยากรของชาติ อีกทั้งการขาดแคลนแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญในเรื่องโรคไต ในการรองรับการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ได้ทั่วถึง จึงเป็นปัญหาที่เผชิญกันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การรณรงค์เพื่อป้องกันการเกิดโรคไตจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดมากกว่าการตั้งรับแต่เพียงอย่างเดียว การสร้างความตระหนักรู้ การสอนพฤติกรรมของการดื่มน้ำ และการรับประทานอาหาร ตลอดจนรู้จักวิธีเลือกใช้ และรับประทานยาที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณายาแก้ปวด หรือยาบำรุงไตใดๆ อันนอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังมีพิษต่อไตอีกด้วย รวมถึงการรณรงค์ ลดสาเหตุของการเกิดโรคไต ซึ่งอันดับแรกคือ โรคเบาหวาน พบว่าในผู้ใหญ่ไทยอายุมากกว่า 15 ปี จะเป็นเบาหวาน 6.9 % หรือ 3.5 ล้านคน และประมาณ 1/3 ของผู้เป็นเบาหวานจะมีโรคไตร่วมด้วย การรณรงค์เพื่อลดน้ำหนัก ลดภาวะอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จึงจำเป็นต้องให้การดูแลรักษาไปพร้อมๆ กันด้วย ศ. เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ กล่าวว่า เนื่องในวันไตโลก 2015 โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ สถาบันชั้นนำของเอเชียในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตอย่างครบวงจร ได้ตระหนักถึงอันตรายของโรคไตวายเรื้อรัง และร่วมหาแนวทางป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของคนไทย ผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และบางส่วนยังไม่เข้าถึงการรักษา จึงมีการวิจัยและพัฒนาการป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรังของคนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตในทุกช่วงอายุอย่างเป็นองค์รวม และมีประสิทธิภาพ ศึกษาหาแนวทางป้องกัน และชะลอการเกิดโรคไตเรื้อรัง พร้อมทั้งสนับสนุนงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไตทั้งในด้านการป้องกันและการดูแลรักษา ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตด้วย ด้าน นพ.ธีรวัฒน์ ธนชยานนท์ แพทย์โรคไต โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ กล่าวว่า การได้รับการรักษาและบำบัดทดแทนไตอย่างถูกวิธีตั้งแต่เริ่มแรกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จะช่วยลดความสูญเสียของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลงได้ ซึ่งแนวทางการรักษาบำบัดทดแทนไตในปัจจุบัน มีอยู่ 3 วิธี คือ 1.) การปลูกถ่ายไต เป็นการรักษาที่ดีที่สุด แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากขาดแคลนผู้บริจาค 2.) การฟอกเลือด (HD) เป็นการกรองของเสียออกจากเลือดโดยตัวกรองของเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยต้องเดินทางไปฟอกเลือดที่ศูนย์ไตเทียม สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆ ละ 4 ชั่วโมง ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ได้เปิดให้บริการฟอกเลือดตอนกลางคืน (In-center nocturnal hemodialysis) เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบำบัดทดแทนไต ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการฟอกไตได้แม้ขณะหลับ ทำให้สามารถใช้ชีวิตในเวลากลางวันได้เหมือนคนปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการฟอกเลือดนานขึ้นเฉลี่ย 6-8 ชม.ต่อครั้ง ใช้เวลาในช่วงเวลาการนอน ช่วยควบคุมความดันโลหิตดีขึ้น ทำให้หัวใจทำงานดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแข็งแรงมากขึ้น ช่วยลดอาการข้างเคียงจากการฟอกเลือดแบบธรรมดา 3.) การล้างไตทางช่องท้อง (PD) วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยหรือญาติสามารถทำได้เองที่บ้าน ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติทั่วไป ลดข้อจำกัดเรื่องเวลาในการเดินทางไปพบแพทย์ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยการล้างไตทางช่องท้อง มี 2 แบบคือ - การล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD) เป็นการล้างไตด้วยตนเองในเวลากลางวันๆละ 4 ครั้ง -การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) ในเวลากลางคืน หรือ APD (Automated Peritoneal Dialysis) เป็นอีกทางเลือกเพื่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยเป็นการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องควบคุมการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะทำในเวลากลางคืนขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับ (9-10 ชั่วโมง ต่อคืน)โดยผู้ป่วยต่อสายท่อล้างไตเข้ากับสายน้ำยา ถุงน้ำยา และเครื่องอัตโนมัติ และทำการตั้งโปรแกรมการทำงานตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ หลังจากนั้นเครื่องจะทำการเปลี่ยนน้ำยาให้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศ โดยทางโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ได้เปิดให้บริการการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) แล้ว เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ช่วยให้ผู้ป่วยมีเวลามากขึ้นสำหรับกิจกรรมในช่วงเวลากลางวันหรือเวลาทำงาน สามารถมีกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ สามารถไปทำงานได้ ผู้สนใจใช้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ สามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 02-684-5000 สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท คอมมูนิเคชั่นแอนด์มอร์ จำกัด คุณบุษบา สุขบัติ (บุษ) / คุณชลียาพันธุ์ นุ่นสวัสดิ์ (กิ๊ฟฟู่) โทร. 02 718 3800-5 ต่อ 141 / 144
แท็ก สาธารณสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ