กลุ่มวัยทำงาน เสี่ยง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการบาดเจ็บ

ข่าวทั่วไป Thursday March 26, 2015 17:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--โฟร์ พี.แอดส์ (96) นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาและสนับสนุนเครือข่ายการทำงานด้านโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ” ว่า จากรายงานสถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2546 – 2556 อัตราการป่วยและตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองใหญ่(อัมพฤกษ์อัมพาต) และโรคเบาหวาน และจากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บในประชากรไทย พ.ศ.2552 พบว่าในกลุ่มวัยทำงานอายุ 15 - 59 ปี ในภาพรวมตายจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อในสัดส่วนที่สูงสุด รองลงมา ได้แก่ กลุ่มการบาดเจ็บ และกลุ่มโรคติดเชื้อ เมื่อแยกตามช่วงอายุพบว่ากลุ่มวัยทำงานตอนต้นอายุ 15-29 ปี เพศชายเสียชีวิตจากการบาดเจ็บมากที่สุด เพศหญิงเสียชีวิตจาก 3 กลุ่มสาเหตุในสัดส่วนเท่าๆกัน และเมื่ออายุสูงขึ้นทั้งสองเพศเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อในสัดส่วนที่สูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังโรค จากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2546-2552 ของสานักระบาดวิทยา พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เฉลี่ย 4,378 รายต่อปี กลุ่มโรคที่มีการรายงานผู้ป่วยมากตามลำดับ ได้แก่ กลุ่มโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ ร้อยละ 45.0 กลุ่มพิษจากสัตว์ ร้อยละ 24.5 กลุ่มโรคผิวหนัง ร้อยละ 20.3 กลุ่มโรคปอดและทางเดินหายใจ ร้อยละ 2.7 และกลุ่มสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ร้อยละ 1.6 โดยมีแนวโน้มการรายงานจำนวนผู้ป่วยของในแต่ละกลุ่มโรคเพิ่มขึ้น นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการจัดบริการสุขภาพกลุ่มวัยทำงาน อายุ 15 – 59 ปี แบบบูรณาการ 2558 ตามมาตรการหลัก 3 ด้าน ดังนี้ 1.การสร้างเสริมสุขภาพ ลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดป่วย 2.การค้นหาผู้ป่วย ดูแลรักษา ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 3.ระบบสุขภาพอำเภอ โดยร่วมกันจัดทำคู่มือการจัดบริการสุขภาพกลุ่มวัยทำงานแบบบูรณาการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ โดยมีกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมสุขภาพจิต สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 เขต และเขตสุขภาพ 12 เขต ด้าน นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ โดยมีระบบการเฝ้าระวัง ติดตามและประเมินผล มาตรการที่สำคัญ ได้แก่ ลดพฤติกรรม/ปัจจัยเสี่ยงในประชากร พัฒนาคลินิกบริการและการจัดการโรค ผลลัพธ์ที่คาดหวังคือประชากรวัยทำงานป่วยและตายลดลงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคจากการประกอบอาชีพ รวมถึงอุบัติเหตุทางถนน และมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ได้แก่ ลดพฤติกรรมเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ มีพฤติกรรมที่ปลอดภัยในการทำงาน ลดพฤติกรรมการขับขี่ไม่ปลอดภัยสู่ความเป็นมาตรฐานเทียบเท่าสากล ซึ่งการประชุมที่จัดขึ้น 25 – 26 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมานั้น ประกอบด้วยผู้บริหารและนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ รวมประมาณ 250 คน จุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำคู่มือในการปฏิบัติงานไปใช้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริม ป้องกันควบคุมโรคทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของกลุ่มวัยทำงานในพื้นที่ รวมไปถึงการพัฒนางานในหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน ต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ