ธรรมศาสตร์ สร้างชื่อระดับนานาชาติอีกครั้ง ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์คว้าเหรียญรางวัลรวมสูงสุด 19 รางวัล จากการประกวดผลงานการประดิษฐ์นานาชาติประจำปี 2015 ที่กรุงเจนีวา

ข่าวทั่วไป Tuesday April 21, 2015 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โชว์ศักยภาพนักประดิษฐ์ไทยในเวทีสากลอีกครั้ง กวาด 19 รางวัล จากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ด้วย 3 เหรียญทองเกียรติยศ 4 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง และ 6 รางวัลพิเศษ ที่มอบให้โดยนานาประเทศ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. หนึ่งในทีมนักวิจัยที่นำผลงานเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ เปิดเผยว่า ตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยธรรมศาสตร์ร่วมงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 43 “the 43rd International Exhibition of Inventions of Geneva” ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 15-19 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 14 ผลงาน ปรากฎว่า ผลงานของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 19 รางวัล แบ่งเป็น3 เหรียญทองเกียรติยศ 4 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง และ 6 รางวัลพิเศษ นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยบนเวทีที่มีความสำคัญระดับโลก “การเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ณ กรุงเจนีวา ในครั้งนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยท่านอธิการบดี ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทั้งด้านทุนสนับสนุนการประกวดสิ่งประดิษฐ์และงานสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติเป็นการเฉพาะ ตลอดจนการส่งเสริมนักวิจัยที่เป็นพันธมิตรวิจัยต่างสถาบันและการวิจัยเพื่อการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ อันนับเป็นการเปิดโลกกว้างของงานวิจัยไทยสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น” ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ กล่าว สำหรับการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติแห่งเจนีวาเป็นการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญงานหนึ่งของโลก ในแต่ละปีมีนักประดิษฐ์จากนานาประเทศทั่วโลกส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดเป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 43 และมีการมอบรางวัลแยกตามประเภทกลุ่มผลงาน (class) ทั้งนี้ การเข้าร่วมการประกวดของทีมนักประดิษฐ์ไทยดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 3 ผลงานที่ได้รับเหรียญทองเกียรติยศได้แก่ (1) เบ้าหล่อสำหรับซีเมนต์ผสมยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาข้อสะโพกติดเชื้อ (Spacer mold for mobile spacer in infected total knee arthroplasty) โดย รศ.นพ.ปิยะ ปิ่นศรศักดิ์ และคณะ จากคณะแพทยศาสตร์ มธ. เบ้าหล่อสำหรับซีเมนต์ผสมยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาข้อสะโพกติดเชื้อเป็นเบ้าหล่อที่ใช้ขึ้นรูปซีเมนต์ผสมยาฆ่าเชื้อให้มีลักษณะเหมือนข้อเทียมใส่ในข้อสะโพกที่ติดเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณรอบข้อและสามารถขยับข้อต่อได้เหมือนข้อจริง มีลักษณะพิเศษคือสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างให้เหมาะสมกับลักษณะของข้อของแต่ละบุคคลได้ ลดการสึกกร่อนของกระดูกที่เกิดจากขนาดของข้อที่ไม่เหมาะสม (Class M: Medicine - Surgery - Orthopedics - Material for the Handicapped) (2) ระบบย่อเชิงความหมายจากเอกสารภาษาไทยหลายเอกสารแบบอัตโนมัติ โดย ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง และคณะ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มธ. ระบบย่อความเชิงความหมายจากเอกสารจะช่วยให้ผู้ใช้ได้อ่านข่าวสรุปย่อเพื่อประหยัดเวลาและรับรู้ความแตกต่างของข่าวจากต่างสำนักพิมพ์ได้ภาษาไทยหลายเอกสารแบบอัตโนมัติ โดยระบบย่อความฯ นี้จะนำเอกสารข่าวจากหลายแหล่งมาหาความสัมพันธ์เพื่อจัดว่า ข่าวชุดใดเป็นข่าวเดียวกันแต่ต่างสำนักพิมพ์ ข่าวชุดใดเป็นข่าวที่นำเสนอต่อเนื่องกัน ข่าวชุดใดมีความสัมพันธ์เชิงความหมายแต่ไม่ได้เป็นข่าวเดียวกัน หลังจากนั้น ทำการนำข่าวแต่ละชิ้นของชุดข่าวนั้นมาทำการสกัดใจความเพื่อให้ทราบว่าใคร ทำอะไร กับใคร ที่ไหน เมื่อใดเวลาใด แล้วนำใจความสำคัญเหล่านั้นมาประติดประต่อกัน โดยตัดความซ้ำ ตัดส่วนเสริมที่ไม่สำคัญประติดประต่อใจความที่เหลือแล้วทำเป็นสรุปข่าวขึ้น (Class C: Computer Sciences-Software-Electronic-Electricity-Method of Communication) (3) ระบบตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างอัตโนมัติด้วยสัญญาน Transcranial Doppler Ultrasound (Automatic Stroke Screening System using Transcranial Doppler Ultrasound) โดย รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ระบบตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างอัตโนมัติโดยใช้สัญญานTranscranial Doppler Ultrasound สามารถตรวจจับสิ่งหลุดอุดหลอดเลือด (Cerebral emboli) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักมากกว่า80% ของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด มีค่าความไว 99% และค่าความจำเพาะ 90% สามารถใช้สนับสนุนการทำงานของแพทย์ในการเผ้าระวังสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดที่เกิดขึ้นระหว่างการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Cerebral angiography) และสามารถใช้สนับสนุนแพทย์ในการตรวจคัดกรองสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยแพทย์ห่างไกลที่ขาดแคลนบุคลากร (Class M: Medicine - Surgery - Orthopedics - Material for the Handicapped) 4 ผลงานที่ได้รับเหรียญทองได้แก่ 1) เตียงพลิกตะแคงตัวระบบไฟฟ้า โดย ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม และคณะ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มธ. เตียงนอนพลิกตะแคงตัวระบบไฟฟ้าจะทำงานโดยใช้ไฟฟ้ามีคุณสมบัติ 1) สามารถพลิกตะแคงตัวซ้ายและขวาระหว่าง 0-30 องศากับแนวระนาบเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับบริเวณปุ่มกระดูก 2) สามารถยกหัวเตียงระหว่าง 0-60 องศากับแนวระนาบเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับบริเวณท้ายทอย ใบหู ใบหน้าและเพื่อยกศีรษะสูงเวลารับประทานอาหาร หรือเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ 3) สามารถยกส่วนข้อพับเข่า 0-45 องศากับแนวระนาบเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับบริเวณใต้เข่า ข้อเข่า ส้นเท้า ตาตุ่ม เตียงพลิกตะแคงจะช่วยอำนวยความสะดวกในการพลิกตะแคงอย่างถูกต้องแก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีข้อจำกัดการเคลื่อนไหวหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ที่กลับไปอาศัยอยู่ที่บ้าน ลดภาระงานของพยาบาลหรือผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และส่งผลทำให้คุณภาพการดูแลผู้ป่วยดีมากขึ้น (Class M: Medicine - Surgery - Orthopedics - Material for the Handicapped) (2) เตียงปรับระดับเพื่อการจัดท่าสำหรับทารกและเด็กเล็ก (Pediatric Posture-Gyro) โดย อ.สุภาวดี ทับกล่ำ และคณะ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มธ. เตียงปรับระดับเพื่อการจัดท่าสำหรับทารกและเด็กเล็กเป็นเตียง Multi-functionเพื่อใช้ในการพยาบาลเพื่อการจัดท่า Postural drainage สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาระบบทางเดิน หายใจ และทารกที่มีปัญหาทางระบบประสาท เพื่อในการจัดท่าให้ทารกและเด็กเล็กเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายเสมหะได้ดีขึ้น ลดเวลาในการรบกวนทารก/เด็กเล็กจากการจัดท่า ลดการใช้ออกซิเจน 2. เพื่อใช้ในการจัดท่าผู้ป่วยเด็ก/ทารกที่มีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร Gastroesophageal reflux disease (GERD) โดยเตียงสามารถปรับระดับ สูง-ต่ำ ซ้าย-ขวา ในองศาที่กำหนดไว้สำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย และสามารถติดตั้งบนชุดเตียงทั่วไปได้ โดยเตียงนี้จะมีที่นอนรองรับตัวเด็กซึ่งถูก ออกแบบให้รองรับตัวเด็กพร้อมทั้งมีส่วนนูนด้านเพิ่มขึ้นจากแนวระนาบเพื่อป้องกันการเลื่อนไถล ขณะเดียวกันเด็กจะถูกผูกยึดโดย safety-belt ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีลักษณะคล้ายผ้าห่อตัวเด็ก มีสีสันสดใส สามารถยึดเด็กไว้ในขณะที่เตียงถูกปรับเอียงด้านซ้าย-ขวา หรือบน-ล่างเพื่อป้องกันตัวเด็กเลื่อนไถลไปตามมุมองศา (Class M: Medicine - Surgery - Orthopedics - Material for the Handicapped) (3) เครื่องตรวจจับประจุไฟฟ้าบนวัสดุอนุภาคนาโน (Nanoparticle Material Charge Detector) โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. และรศ.ดร. พานิช อินต๊ะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภายใต้โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เครื่องตรวจจับประจุวัสดุอนุภาคนาโนต้นแบบนี้จะทำงานโดยการดูดตัวอย่างวัสดุอนุภาคนาโนที่ต้องการวัดผ่านท่อเก็บตัวอย่างและถูกอัดประจุด้วยชุดให้ประจุไฟฟ้าอนุภาคแบบโคโรนา จากนั้นวัสดุอนุภาคนาโนจะผ่านเข้าไปยังชุดดักจับไอออน เพื่อกำจัดไอออนอิสระที่มีความสามารถในการเคลื่อนตัวทางไฟฟ้าสูงออกก่อน เมื่อออกจากชุดดักจับไอออนแล้ววัสดุอนุภาคนาโนที่มีประจุจะผ่านเข้าไปยังชุดตรวจจับประจุไฟฟ้าอนุภาคเชิงไฟฟ้า เพื่อตรวจวัดระดับประจุไฟฟ้าสถิตของอนุภาค โดยวัสดุอนุภาคนาโนทั้งหมดจะถูกสะสมตัวบนแผ่นตกกระทบด้วยวิธีการตกกระทบเนื่องจากความเฉื่อยและแรงทางไฟฟ้าที่จ่ายให้กับขั้วอิเล็กโทรด ซึ่งแผ่นตกกระทบจะถูกเชื่อมต่อเข้าเครื่องวัดกระแสต่ำอิเล็กโทรมิเตอร์เพื่อการวัดระดับกระแสไฟฟ้า โดยค่ากระแสไฟฟ้าที่วัดได้จะมีความสัมพันธ์กับประจุไฟฟ้าสถิตของวัสดุอนุภาคนาโน และค่ากระแสไฟฟ้าที่วัดได้จากชุดตรวจจับประจุไฟฟ้าอนุภาคเชิงไฟฟ้าจะถูกนำไปประมวลผลข้อมูลด้วยหน่วยประมวลผลข้อมูลภายใน เพื่อแสดงกราฟความเข้มข้นเชิงจำนวนของวัสดุอนุภาคนาโนเครื่องตรวจจับต้นแบบที่พัฒนาขึ้นสามารถวัดจำนวนความเข้มข้นของวัสดุอนุภาคนาโนได้ในช่วง 7.45 × 108และ 7.45 × 1011 particles/m3 สอดคล้องกับค่ากระแสไฟฟ้าของอนุภาคในช่วง10 fA ถึง 10 pA ใช้เวลาในการประมวลผลน้อยกว่า 200 ms (Class C: Computer Sciences-Software-Electronic-Electricity-Method of Communication) (4) ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ โดย ผศ.ดร.สุเปญญา จิตตพันธ์ และคณะ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ ประกอบด้วย ถังน้ำขนาด 18.9 ลิตร วางบนขาตั้งเหล็กซึ่งออกแบบมาให้สามารถปรับเอียงองศาได้ และให้อากาศโดยใช้ปั๊ม ระบบนี้มีข้อดี คือ เป็นระบบที่เคลื่อนย้ายได้ ประกอบได้ง่ายและสามารถเพาะเลี้ยงในภาคสนามได้ ลดการปนเปื้อนจากภายนอกได้ ลดการระเหยของน้ำ ไม่เกิดการรั่วซึ่มของน้ำ แสงส่องผ่านได้ทั่วถึง ทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้ดี สามารถเพาะเลี้ยงสาหร่ายได้ต่อเนื่องถึง 5 รอบ เป็นการลดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายและระยะเวลา และสามารถติดตั้งเป็นแหล่งผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ครัวเรือนได้ (Class K: Agriculture-Horticulture-Gardening) 3 ผลงานที่ได้รับเหรียญเงิน ได้แก่ (1) แกนเหล็กเพื่อตัดแนวกระดูกในการทำผ่าตัดข้อไหล่เทียมรายบุคคล (Patient Specific Drill-Guide forAssisting Shoulder Arthroplasty Surgery) โดย รศ.ดร.นพ.บัญชา ชื่นชูจิตต์ นพ.อดินันท์ อภิวัฒน์การุญ นพ.พิงควรรศ คงมาลัย คณะแพทยศาสตร์ มธ. ร่วมกับ ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป ดร.ณัฐพล จันทร์พาณิชย์ จากMTEC สวทช. แสดงผลงานการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียมในผู้ป่วยที่มีข้อไหล่เสื่อมโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยใช้คอมพิวเตอร์วางแผนการผ่าตัดล่วงหน้า ร่วมกับใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปสามมิติจากเลเซอร์ printer ทำให้เราสามารถกำหนดแกนของหัวกระดูกต้นแขน และทิศทางตำแหน่งการเจ้าสกรูที่กระดูกสะบัก ทางคณะผู้ประดิษฐ์จึงได้พัฒนาแม่แบบการเจาะรายบุคคล ซึ่งออกแบบโดยใช้ข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกซเรย์ของผู้ป่วย และตำแหน่งทิศทางการเจาะจะคำนวณจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการผลิตที่ใช้เทคนิคการขึ้นรูปแบบชั้น จึงมีข้อดีในเรื่องของรูปทรงที่รับกับการวิภาคและมีความแม่นยำในการกำหนดตำแหน่ง งานประดิษฐ์ชึ้นนี้จึงนับว่าช่วยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ในการผ่าตัดให้สะดวกมากขึ้น เพิ่มความมั่นใจในการผ่าตัด รวมถึงคนไข้ที่มีผลการรักษาดีขึ้น (Class M: Medicine - Surgery - Orthopedics - Material for the Handicapped) (2) Ba + BuaLeaf: The Green-shared Products with Integrated Design โดย ผศ. ดร. เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. เป็นนวัตกรรมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากวัสดุจากธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเอกลักษณ์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางการออกแบบและแนวคิดเชิงสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย (Class H: Furnishing-Interior Architecture) (3) โคมไฟ S-Pleating โดย อ.พยัพ ภักดีเหลา และน.ส.พิไลพร นุ่นมา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. โดยแรงบันดาลใจในการสร้างพื้นผิวของโคมไฟมาจากหลังคาที่มีการสลับช่องของพื้นผิวและที่ว่าง รูปทรงที่มีลักษณะบิดเกลียว ทำให้เกิดช่องว่างของพื้นผิวภายในทำให้แสงและเงาที่ลอดผ่านมีความหลากหลายแตกต่างกันไป ตามจังหวะและรูปแบบการบิด (Class H: Furnishing-Interior Architecture) 3 ผลงานที่ได้รับเหรียญทองแดง ได้แก่ (1) ระบบควบคุมแสงแดดอัตโนมัติด้วยพฤติกรรมมนุษย์ (Automatic Daylight Control System based on Human Behavior) โดย ดร.ชาวี บุษยรัตน์ อ.พฤฒิพร ลพเกิด นายพิสัย สีบำรุงสาสน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. ระบบควบคุมแสงธรรมชาติแบบอัตโนมัติสามารถปรับเปลี่ยนปริมาณแสงธรรมชาติที่ส่องผ่านเข้ามาในอาคารให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ติดตั้งเข้ากับหน้าต่างอาคารหรือช่องเปิดอื่นๆเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน ช่วยเหลือผู้พิการ หรือใช้ในการพัฒนาสมาร์ทโฮม (Class D: Building-Architecture-Civil Engineering-Construction-Material-Woodwork) (2) เครื่องผลิตไบโอดีเซลพลังงานต่ำ Purified biodiesel production unit using a continuous flow multimodes-double feed microwave heating โดย ผศ.ดร.มาลี สันติคุณาภรณ์ และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. (Class A: Mechanics –Engines-Machinery-Tools-Industrial Processess-Metallurgy) (3) ถุงเลือกผ่านแก๊สและเม็ดขัดผิวจากพอลิเมอร์ชีวภาพอลิแลคไทด์ โดย รศ.ดร.ปกรณ์ โอภาประกาศิต และคณะ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มธ. สิ่งประดิษฐ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์เม็ดขัดผิวจากโคพอลิเมอร์พอลิแลคไทด์ ซึ่งสามารถเชื่อมขวางได้ โดยสามารถปรับแต่งขนาด ลักษณะพื้นผิว ความนิ่ม และเก็บกักสารสำคัญไว้ในเม็ดได้ จึงใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสูง นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกที่มีความสามารถเลือกผ่านแก๊สCO2/O2 ได้ โดยผลิตจากสารเติมแต่ง ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งเหมาะกับการใช้งานเป็นทางด้านบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Class Q: Food Stuffs-Drinks-Cosmetics-Paramedical-Health-Hygiene) 6 ผลงานที่ได้รับรางวัลพิเศษ (Special Prize) ได้แก่ (1) รางวัลพิเศษจากประเทศการ์ตาร์ -- แกนเหล็กเพื่อตัดแนวกระดูกในการทำผ่าตัดข้อไหล่เทียมรายบุคคล โดย รศ.นพ.บัญชา ชื่นชูจิตต์ และคณะ จากคณะแพทยศาสตร์ มธ. (2) รางวัลพิเศษจากประเทศไต้หวัน-- เตียงพลิกตะแคงตัวระบบไฟฟ้า โดย ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม และคณะ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มธ. (3) รางวัลพิเศษจากประเทศโปแลนด์--ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ โดย ผศ.ดร.สุเปญญา จิตตพันธ์ และคณะ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (4) รางวัลพิเศษจากประเทศมาเลเซีย-- Ba + BuaLeaf: The Green-shared Products with Integrated Designโดย ผศ. ดร. เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. (5) รางวัลพิเศษจากประเทศโปแลนด์- เครื่องผลิตไบโอดีเซลพลังงานต่ำPurified biodiesel production unit using a continuous flow multimodes-double feed microwave heating โดย ผศ.ดร.มาลี สันติคุณาภรณ์ และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. (6) รางวัลพิเศษจากประเทศอิหร่าน-- เครื่องตรวจจับประจุไฟฟ้าบนวัสดุอนุภาคนาโน (Nanoparticle Material Charge Detector) โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. และรศ.ดร.พานิช อินต๊ะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภายใต้โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ