สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 18-22 พ.ค.58 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 25-29 พ.ค. 58 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2015 15:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่59.37 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่85.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 77.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ค.58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น มาอยู่ที่ 660 แท่น · ผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบ WPX Energy Inc. ของสหรัฐฯ เผยว่าบริษัทพร้อมที่จะเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในรัฐ North Dakota หากราคาน้ำมันดิบ WTI เสถียรอยู่ที่ระดับ 65เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แม้ช่วงต้นปี WPX Energy จะมีการปลดพนักงานถึง 8% แต่ส่วนใหญ่เป็นพนักงานทั่วไป ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะว่าจ้างวิศวกรและนักธรณีวิทยาอีก 40-50 อัตรา เพื่อรองรับแผนการผลิตในอนาคต · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12พ.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9,569สัญญา มาอยู่ที่ 273,891 สัญญา · The Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย เดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 548,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 7.90 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 9 ปี และความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าปริมาณ 351,000 บาร์เรลต่อวัน(เพิ่มขึ้น 36,000 บาร์เรลต่อวัน) และป้อนสำหรับโรงกลั่นในประเทศ 1.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากเดือนก่อน 175,000 บาร์เรลต่อวัน) · ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) รายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือน เม.ย.58 ลดลง จากเดือนก่อน 0.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่อัตรากำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (Capacity Utilization Rate) ลดลงจากเดือนก่อน 0.4% มาอยู่ที่ 78.2% ซึ่งบ่งบอกถึงการชะลอตัวทั้งในด้านการลงทุนในภาคธุรกิจและการซื้อของผู้บริโภค · Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 58 ลดลงจากปีก่อน 13.6% มาอยู่ที่ระดับ 3.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงประจำปี ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ค. 58 ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 482.2 ล้านบาร์เรล (ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3) สวนทางกับประมาณการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าปริมาณสำรองน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณสำรองที่ Cushing รัฐ Oklahoma ลดลง 241,000 บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 60.4 ล้านบาร์เรล · Reuters รายงานขบวนการก่อตั้งรัฐอิสลาม (Islamic State-IS) ยึดเมือง Palmyra จากรัฐบาลซีเรีย ขณะเดียวกันได้ยึดชายแดนระหว่างซีเรียกับอิรักบริเวณที่เชื่อมต่อจากมือง Homs ในซีเรีย ต่อสถานการณ์ดังกล่าวเท่ากับว่า IS ครอบครองชายแดนระหว่างซีเรียกับอิรักได้ทั้งหมด ด้าน UNESCO กังวลว่าเมืองประวัติศาสตร์ของโลกเช่น Palmyra ซึ่งสั่งสมอารยธรรมของอาณาจักรโรมัน อินเดีย จีน และเปอร์เซียในอดีตอาจถูกทำลายลงย่อยยับด้วยน้ำมือของ IS ดังที่เกิดขึ้นในอิรัก · สำนักงานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน(NDRC)กำลังจะผ่อนคลายข้อกำหนดในการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการผ่อนคลายที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเกือบ 2% เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมีปัจจัยสำคัญจากการแข็ง ค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยล่าสุด นาง Janet Yellen ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้กล่าวในที่ประชุมหอการค้า (Providence Chamber of Commerce) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังจากชะลอตัวในช่วงเดือนก่อนหน้าจากปัจจัยชั่วคราว และเชื่อว่าจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมในปีนี้ ที่จะปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ตั้งเป้าไว้ นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ลดลงเพียงเล็กน้อย โดยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ค. 58 ลดลงเพียง 1 แท่น จากสัปดาห์ก่อน และเริ่มมีความเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันในแหล่งผลิตShale Oil สำคัญแต่ละแหล่ง โดยที่แท่นขุดเจาะในแหล่งผลิต Niobara Basin เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น และแหล่ง Eagle Ford เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3 แท่น ขณะที่แหล่ง Permian Basin ลดลงจากสัปดาห์ก่อนเพียง 1 แท่น แสดงถึงความแตกต่างของต้นทุนในการผลิตของแต่ละแหล่ง ทั้งนี้ปริมาณแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญตัวแปรหนึ่ง ที่กลุ่ม OPEC ใช้พิจารณาในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 มิ.ย. 58 นี้ ปัจจัยที่น่าจับตามองได้แก่การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้อนุมัติให้บริษัท Shell กลับมาดำเนินการขุดเจาะน้ำมันดิบในบริเวณทะเล Chukchi นอกชายฝั่งอลาสกา โดยล่าสุด วุฒิสมาชิกพรรค Democratของสหรัฐฯ จำนวน 18 ราย ได้กล่าวเตือนรัฐบาล ให้ทบทวนแผนการอนุมัติอีกครั้ง โดยเมื่อครั้งที่ Shell ประสบปัญหาทางเทคนิคที่ของแท่นขุดเจาะดังกล่าวเมื่อปี 2555 ทำให้ชีวิตพนักงานจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง และอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรติดตามได้แก่ การเจรจาชำระหนี้ของกรีซ โดยวันอาทิตย์ที่ผ่านมานาย Nikos Voutsis รัฐมนตรีมหาดไทย (Interior Minister) ของกรีซกล่าวว่ารัฐบาลกรีซไม่มีเงินที่จะชำระหนี้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ในเดือน มิ.ย. 58 นี้ ซึ่งเป็นเม็ดเงินกว่า 1.6 พันล้านยูโร (1.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยการแถลงดังกล่าวเป็นสัญญาณที่รุนแรงที่สุดว่ากรีซอาจจะผิดนัดชำระหนี้หากการเจรจากับสถาบันและประเทศคู่ค้าในยุโรปไม่เป็นผลสำเร็จ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62-67เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 58-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นจาก Pertamina ของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อ Gasoline 92 RON ส่งมอบในไตรมาส 3/58 ปริมาณรวม 6.6 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้น 38 % หลังจากยกเลิกการออกประมูลซื้อครั้งก่อน และ Ceylon Petroleum Corp. ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON และ 95 RON ปริมาณ200,000 บาร์เรล และ 40,000 บาร์เรล ตามลำดับ ส่งมอบ 7 - 8 ก.ค 58 และ Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับสูง และมีอุปสงค์จากอินเดียในตลาดจร ช่วยสนับสนุน sentiment ของตลาด โดย Indian Oil Corp. (IOC) ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 91.5 RONทั้งหมด 4 เที่ยวเรือปริมาณรวม 629,000 บาร์เรล ส่งมอบช่วงเดือน มิ.ย. 58 และ Hindustan Petroleum Corp Ltd (HPCL) ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน ปริมาณ 255,000 บาร์เรล ส่งมอบช่วง 25 พ.ค. – 5 มิ.ย. 58 และ Reformateปริมาณ 340,000 บาร์เรล ส่งมอบช่วง 25 พ.ค. – 2 มิ.ย. 58 ประกอบกับ Energy Aspects รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของอินเดียเดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18.7% อยู่ที่ 510,000 บาร์เรลต่อวัน โดยยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลในเดือน เม.ย. 58 และปรับขึ้นจากปีก่อนถึง 18.7% และปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินInternational Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.54 ล้านบาร์เรลอยู่ที่ 11.50 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามกรมศุลกากรจีนเผยจีนส่งออกน้ำมันเบนซินเดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 70% มาอยู่ที่ 4.42 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุด 16 พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.3 ล้านบาร์เรล หรือ 4.9 % อยู่ที่ 11.4 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 83-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากสำนักงานสถิติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China’s National Bureau of Statistics) เผยปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล ในเดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.7% มาอยู่ที่3.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง Platts รายงานความต้องการน้ำมันดีเซลในเอเชียอ่อนตัว เนื่องจากอุปสงค์ก่อนช่วงรอมฎอนลดลง และปริมาณอุปทานยังคงล้นตลาดจากผู้ผลิตในจีน ไต้หวันและเกาหลีใต้ส่งออก อย่างไรก็ตามCeylon Petroleum Corp. ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05%s ปริมาณ 75,000 บาร์เรล ส่งมอบ 7-8ก.ค. 58 และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 16 พ.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.2 ล้านบาร์เรล หรือ 1.9 % อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรล ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.67 ล้านบาร์เรล อยู่ที่9.44 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ