มร. เคน หู หัวเว่ย ซีอีโอ กล่าว “นวัตกรรมคือการวิ่งมาราธอน”

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday June 3, 2015 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--แฟรนคอม เอเชีย องค์กรที่มองหาความสำเร็จด้านนวัตกรรมต้องมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในระยะยาว มร. เคน หู รองประธานบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารหมุนเวียนตามวาระ กล่าวในระหว่างสุนทรพจน์เกี่ยวกับปรัชญาด้านนวัตกรรมของหัวเว่ยในงานมิวนิค อีโคโนมิค ซัมมิท ครั้งที่ 14 “นวัตกรรมไม่ใช่การวิ่งเข้าเส้นชัยให้เร็วที่สุด แต่เป็นการวิ่งระยะยาวแบบมาราธอน” มร. หู กล่าว และเน้นย้ำว่า นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2530 หัวเว่ยจะใช้งบอย่างน้อยร้อยละ 10 ของยอดขายในแต่ละปี เพื่อลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนา โดยในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยใช้งบมากกว่า 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 14 ของยอดขายตลอดทั้งปีในด้านนี้ ซึ่งสูงขึ้นเกือบร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า “นวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของ DNA และเป็นรากฐานสำคัญของความสามารถในการแข่งขันของเรา” มร. หู กล่าว “พนักงานเกือบครึ่งหนึ่งจาก 170,000 คนทั่วโลกทำงานเกี่ยวข้องกับด้าน R&D และกว่าสิบปีที่ผ่านมา หัวเว่ยใช้งบลงทุนในด้าน R&D ไปแล้วกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ” การให้ความสำคัญในระยะยาวกับนวัตกรรมสร้างประโยชน์มากมายแก่หัวเว่ย ณ ปลายปีที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนสิทธิบัตรทั้งสิ้น 38,825 ฉบับ โดยกว่าร้อยละ 90 เป็นสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ตามรายงานขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก สหประชาชาติ ในปี 2557 หัวเว่ยได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรจำนวน 3,442 ฉบับ สูงกว่าบริษัทอื่นๆ ในโลก นอกเหนือจากการลงทุนด้าน R&D ในระยะยาวแล้ว มร. หู ยังกล่าวว่า นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นผลลัพธ์จากการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและการรังสรรค์นวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรและสถาบันวิจัยต่างๆ “ความต้องการของลูกค้าควรจะเป็นพลังขับเคลื่อนและเป้าหมายของนวัตกรรม” มร. หู กล่าว “รางวัลที่ยอดเยี่ยมที่สุดของนวัตกรรมคือความสำเร็จของลูกค้า” มร หู กล่าวว่า ความพยายามด้านนวัตกรรมของหัวเว่ยจะเน้นถึงความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่แล้วหรืออาจมีขึ้นเสมอ ตัวอย่างเช่น หัวเว่ยได้แนะนำแนวคิดของสถานีฐานแบบกระจายเข้าสู่ตลาดยุโรป เมื่อผู้ประกอบการในยุโรปต้องการสถานีที่มีขนาดเล็กลงและติดตั้งง่ายขึ้น เขายังกล่าวอีกด้วยว่า บริษัทต่างๆ ควรสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรในอุตสาหกรรม ด้วยการใช้ทรัพยากรและผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่ทั่วโลกเพื่อสร้างระบบนิเวศที่จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้เอง หัวเว่ยจึงมีสถาบันวิจัยถึง 16 แห่ง และก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมความร่วมมืออีก 31 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ สถาบันวิจัยแห่งยุโรป จะทำหน้าที่ประสานงานกับศูนย์ฯ 18 แห่งที่ตั้งกระจายอยู่ในยุโรป 8 ประเทศ เพื่อค้นคว้าเทคโนโลยีเครือข่ายแห่งยุคหน้า และหัวเว่ยทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับบริษัทชั้นนำมากมาย รวมไปถึงสถาบันต่างๆในยุโรปด้วย การประชุมมิวนิค อีโคโนมิค ซัมมิท ครั้งที่ 14 จัดขึ้นโดยมูลนิธิ BMW ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจในมิวนิค โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลจากประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สาธารณรัฐเชก โครเอเชีย และประเทศอื่นๆในยุโรป รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ อาทิ คณะกรรมการยุโรป ศูนย์ศึกษานโยบายแห่งยุโรป สถาบันการศึกษาและวิจัยด้านบริหารธุรกิจยุโรป ที่ปรึกษากลยุทธ์โรแลนด์ เบอร์เกอร์ และบริษัท UBS และสื่อมวลชนต่างๆ อาทิ The Economist และ The Financial Times เข้าร่วมงาน ผู้สนใจสามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.huawei.com หรือติดตามความเคลื่อนไหวของหัวเว่ยได้ทาง http://www.linkedin.com/company/Huawei http://www.twitter.com/Huawei http://www.facebook.com/Huawei http://www.google.com/+Huawei http://www.youtube.com/Huawei

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ