‘นพ.สสจ.’แจงประกาศกรมควบคุมโรค แนะให้ระวัง/ป้องกัน โรคที่เกิดในฤดูฝน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 9, 2015 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม แจ้งว่า เนื่องจากขณะนี้จะย่างเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมักมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นช่วง ๆ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันได้ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศดังเช่นนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลายชนิด ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนในช่วงฤดูฝนนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอแจ้งให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโรคที่เกิดในฤดูฝน ซึ่งมีหลายโรค อาทิ ๑.โรคที่เกิดจากแมลงพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค ๒.โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ ๓.โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ประกอบด้วย โรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดต่อทางเดินหายใจ โรคมือ เท้า ปาก ๔.โรคที่เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อมและสัตว์พาหะ โรคเลปโตสไปโรซีส เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อยู่ในฉี่หนูหรือสัตว์เลี้ยง และ ๕.โรคที่มักเกิดร่วมกับภาวะอุทกภัย คือ โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร โรคเยื่อตาอักเสบ หรือตาแดง โรคน้ำกัดเท้า อันตรายจากสัตว์มีพิษ อันตรายจากการจมน้ำ อันตรายจากไฟฟ้าดูด คำแนะนำในการระวังป้องกันโรคดังกล่าวข้างต้น อย่าให้ถูกยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง หรือทายากันยุง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีความต้านทานโรค ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกน้ำ เปียกฝน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ควรรับการฉีดวัคซีน ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตามประกาศของทางราชการ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเดินย่ำน้ำ หรือถูกน้ำสกปรก รับประทานอาหารที่สะอาดสุกใหม่ๆ และไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ถ่ายอุจจาระลงในส้วม อย่าใช้มือ แขน หรือผ้าที่สกปรกขยี้ตา หรือเช็ดตา หากมีอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้า หรือมีบาดแผล ควรทำการรักษาเสียตั้งแต่เริ่มเป็น ก่อนที่อาการเหล่านั้นจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น ระมัดระวังมิให้เกิดอุบัติเหตุจากการถูกของมีคมและสัตว์มีพิษกัดต่อย การช่วยคนจมน้ำ ามอุ้มพาดบ่า กระโดด วิ่งรอบสนาม วางบนกระทะคว่ำ หรือรีดน้ำออก เพราะจะทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น กรณีที่ผู้จมน้ำไม่หายใจให้ช่วยด้วยการเป่าปากตามจังหวะหายใจเข้าออก และนำส่งโรงพยาบาลทันทีทุกราย ระมัดระวังหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน บริเวณบ้านขณะน้ำท่วม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ