สคร.7 เตือนเกษตรกรระวังโรคฉี่หนู หลังพบระบาด

ข่าวทั่วไป Tuesday June 23, 2015 11:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 เตือนเกษตรกรระวังโรคฉี่หนู ระบาดช่วงฤดูทำนา ล่าสุดพบผู้ป่วยแล้วกว่า 500 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ลงแช่น้ำเป็นเวลานานแต่ไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า ในระยะนี้เริ่มมีการระบาดของโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซีส เนื่องจากประชาชนเริ่มออกไปทำไร่ทำนา ขุดลอกคูคลองหรือเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ โดยเชื้อจะอยู่ในฉี่ของสัตว์ โดยเฉพาะหนู ทั้งหนูนา หนูป่า หนูบ้าน หนูท่อ รวมทั้งสัตว์อื่นๆ เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกาย โดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน และอาจติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อ และกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ จากรายงานสถานการณ์โรคฉี่หนู ของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.– 12 มิ.ย. 2558 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคฉี่หนู ทั้งสิ้น 492 ราย เสียชีวิต 7 ราย ส่วนในพื้นที่รับผิดชอบของ สคร.7 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 119 ราย ไม่มีเสียชีวิต จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จ.ศรีสะเกษ พบผู้ป่วย 60 ราย รองลงมาคือ จ.อุบลราชธานี พบผู้ป่วย 42 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรอายุ 35-54 ปี นพ. ศรายุธ กล่าวต่อว่า กล่าวอีกว่า หากผู้ป่วยที่มีอาการเริ่มด้วยมีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะหลัง ต้นขาและน่อง ปวดศีรษะ ตาแดง คลื่นไส้ และปวดท้องให้รีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง เพราะโอกาสรักษาหายเป็นปกติมีสูงมาก แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ หรือหาซื้อยากินเอง จะทำให้เชื้อลุกลาม และไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเมื่อมีอาการหนักแล้ว เชื้อจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามวิธีการป้องกันเบื้องต้นเกษตรกรควรสวมใส่รองเท้าบูทเมื่อลง แช่น้ำ และหลังเสร็จภารกิจหรือขึ้นจากน้ำให้รีบล้างมือ ล้างเท้าด้วยสบู่ให้สะอาด โดยเฉพาะผู้ที่บาดแผลตามร่างกาย เนื่องจากโรคเลปโตสไปโรซิส เกิดจากการสัมผัสปัสสาวะของสัตว์โดยตรง หรือติดโดยทางอ้อมจากแหล่งน้ำตามทุ่งนา และบริเวณที่มีน้ำขัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันเป็นพิเศษ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถโทรศัพท์สายตรงได้ที่ สายด่วนควบคุมโรค โทร 1422 นพ. ศรายุธ กล่าวปิดท้าย ข้อความสำคัญ “สวมรองเท้าบูทเมื่อลงแช่น้ำ ขึ้นจากน้ำให้รีบล้างมือ ล้างเท้าด้วยสบู่ให้สะอาด”
แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ