สกย. เตือนเกษตรกรชาวสวนยาง เตรียมพร้อมรับมือพายุฝน แนะเร่งฟื้นฟูหากได้รับความเสียหาย พร้อมยื่นมือช่วยเหลือ

ข่าวทั่วไป Thursday June 25, 2015 12:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง สกย. เตือนเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะภาคเหนือ-อีสาน เตรียมพร้อมรับมือพายุฝน แนะเร่งฟื้นฟูหากได้รับความเสียหาย ย้ำพร้อมช่วยเหลือ ไร่ละ 16,000 บ. ด้านเกษตรกรไม่หวั่น ขอทุนปลูกต่อ เนื่องจากให้ผลตอบแทนดี นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพภูมิอากาศของประเทศค่อนข้างแปรปรวนและมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกรุนแรง หรือ วาตภัย เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาจจะส่งผลกระทบทำให้สวนยางพาราของเกษตรกรได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งยากที่จะหาทางป้องกันได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นภัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถลดความเสียหายได้ "ในการปลูกยาง สกย.จะแนะนำเสมอว่า จะต้องวางแผนการปลูก ดูทิศทางของลมให้ดี เพื่อวางแนวปลูกที่ไม่ขวางกระแสลม รวมทั้งเลือกพันธุ์ยางที่มีความแข็งแรง ให้ผลผลิตสูง และเป็นกล้ายางที่มาจากการติดตาในถุง หรือในแปลง แต่ถ้าหากต้นยางเจริญเติบโตแล้ว การตัดแต่งกิ่งควบคุมต้นยางให้เป็นทรงพุ่ม ก็จะช่วยป้องกันและลดความเสียหายจากลมพายุได้" รักษาการแทนผู้อำนวยการ สกย.กล่าว นายประสิทธิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากต้นยางได้รับความเสียหาย เอียง โค่น หรือมีกิ่งฉีกขาด จากพายุลมแรง เกษตรกรจะต้องรีบดำเนินการฟื้นฟูทันที โดยวิธีปฏิบัติคือ ให้ตัดแต่งกิ่งที่ฉีกขาดออกทั้งหมด และยกลำต้นตั้งขึ้น จากนั้น ให้ทำการค้ำยันพยุงลำต้นไว้ ประมาณ 5 - 6 เดือน จนกว่าต้นยางจะแตกใบใหม่ แต่ถ้าหากเกิดน้ำท่วมขัง ต้องหาทางระบายออกโดยเร็วด้วยการขุดร่องระบายน้ำ แต่ทั้งนี้ ห้ามนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปในสวนยาง เพราะอาจจะทำให้โครงสร้างดินเสียหายได้ สำหรับสวนยางของเกษตรกรที่เปิดกรีดแล้ว ได้รับความเสียหายจากพายุ หรือวาตภัยดังกล่าว สามารถขอรับทุนสงเคราะห์เพื่อทำการปลูกใหม่จาก สกย.ได้ ในอัตราไร่ละ 16,000.-บาท หรือหากจะเปลี่ยนไปปลูกพืชยืนต้นอื่นๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล เป็นต้น ก็ได้ทดแทนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากปลูกปาล์มน้ำมันจะได้รับทุนสงเคราะห์ถึง 26,000 บาทต่อไร่ แต่จะต้องเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมันด้วย ทั้งนี้มีหลักเกณฑ์ คือ ต้นยางที่ได้รับความเสียหายต้องเปิดกรีดแล้ว ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 มีจำนวนต้นคงเหลืออยู่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนต้นที่ปลูกทั้งหมด และจะต้องประสบวาตภัยมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน นับจนถึงวันที่ยื่นคำขอรับการสงเคราะห์ นอกจากนี้ คุณสุวิทย์ อุทธา เกษตรกรชาวสวนยาง บ้านพรานใต้ ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สวนยางของตนเปิดกรีดไปแล้ว เคยได้รับความเสียหายจากวาตภัย เมื่อปีที่ผ่านมา และได้ยื่นเรื่องขอรับทุนสงเคราะห์จาก สกย. เพื่อทำการปลูกใหม่ทดแทน จำนวน8 ไร่ จากสวนยางที่ปลูกทั้งหมด50 ไร่ โดยยังคงปลูกยางเหมือนเดิม ไม่ปลูกพืชอื่นๆ เนื่องจากเห็นว่า ยางยังเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนที่ดี แม้ราคาขณะนี้จะตกต่ำก็ตาม แต่ยังให้ผลตอบแทนดีกว่า เมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ โดยระหว่างที่รอการเปิดกรีดยาง ยังสามารถปลูกพืชอื่นๆ รวมทั้งประกอบอาชีพเสริมร่วมกับการทำสวนยางได้อีกด้วย สำหรับสวนยางที่ปลูกใหม่นั้น ตนได้ปลูกเพอราเรีย ซึ่งเป็นพืชคลุมดินตระกูลถั่วด้วย เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน ป้องกันการชะล้างและพังทลายของดิน และช่วยควบคุมวัชพืช เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืช ทำให้ลดเวลา แรงงาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืช ป้องกันกาล้างหน้าดิน และลดการพังทลายของหน้าดิน รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มธาตุอาหารให้กับดินอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถเก็บเมล็ดขายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวรชะ โดยเพอราเรีย 1 ไร่ จะให้ผลผลิตประมาณ 15 - 35 กิโลกรัมๆ ละ 150 บาท. ด้าน นายดนุ ทัศนวิรุฬน์ หัวหน้ากองวิชาการเกษตร สกย. ย้ำเตือนถึงโรคระบาดที่เกษตรกรต้องเฝ้าระวังในหน้าฝน ได้แก่ โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอรา โรคเส้นดำ โรครากขาว และ โรคราสีชมพู โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอรา ซึ่งลักษณะอาการจะมีใบร่วงทั้งที่ยังมีสีเขียว ก้านใบมีรอยแผลช้ำ สีน้ำตาลเข้มถึงดำ และมีหยดน้ำยางหยดเล็กๆ สีขาวเกาะติดอยู่บนใบ และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงดำ ซึ่งเกษตรกรควรจะใช้สารเคมี เมทาแลกซิล หรือ ฟอสเอทธิล - อนูมิเนียม ในอัตรา 40 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ้นพุ่มใบเมื่อเริ่มพบโรคระบาดทุกๆ 7 วัน หากต้นยางใหญ่แล้วควรหยุดกรีดยางและใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์ก่อนแล้วจึงเปิดกรีดต่อไป โรคเส้นดำ มักเกิดหลังจากการระบาดของโรคใบร่วงไฟทอฟธอราจะเกิดรุนแรงเมื่อกรีดยางติดต่อกันในฤดูฝน เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกษตรกรสามารถดำเนินการป้องกันและรักษา โดยใช้สารเคมี ตัวเดียวกันกับโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอรา ใช้ทาบริเวณหน้ากรีด ภายใน 12 ชม.หลังการกรีดยาง หากมีอาการรุนแรงให้ใช้สารเคมีผสมสารจับใบ พ่นหรือทารอยกรีดที่เป็นโรคใต้รอยกรีดประมาณ 5 ซม. และ โรครากขาว แพร่กระจายโดยการสัมผัสระหว่างรากที่เป็นโรคกับรากของต้นปกติ ซึ่งสปอร์ของเชื้อราจะแพร่โดยลม แมลงและน้ำ ดังนั้น หากแปลงยางใดที่เคยเป็นโรครากขาว ก่อนที่จะปลูกยางซ้ำ ให้ใช้กำมะถันผงผสมดินอัตรา 100 กรัมต่อหลุมทิ้งไว้ 15 วันเพื่อปรับค่า pH ของดินให้เป็นกรด และป้องกันการเจริญของเชื้อราสาเหตุของโรคราก หากพบโรครากขาวควรขุดต้นและรากเผาทำลายให้หมด พร้อมทั้งขุดคูล้อมบริเวณต้นที่เป็นโรค เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นอื่น พร้อมใช้สารเคมีที่เหมาะสมราดโคนต้นซึ่งมีการขุดเป็นระยะทุกๆ 6 เดือน นอกจากนี้ยังมี โรคราสีชมพู ซึ่งมีลักษณะอาการ เปลือกปริแตกบริเวณคาคบ หรือกิ่งก้าน มีน้ำยางไหล พบเส้นใยเชื้อราสีขาวหรือชมพูเจริญที่ผิวเปลือก โดยการป้องกันและรักษา เกษตรกรควรดูแลรักษาสวนยางให้โปร่งอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการปลูกพันธุ์ยางที่อ่อนแอในเขตอากาศชุ่มชื้น โดยเฉพาะยางพันธุ์ RRIM 600 หากเป็นโรครุนแรงจนถึงกิ่งแห้งตาย และมีกิ่งใหม่แตกใต้รอยแผล ควรตัดแต่งกิ่งแห้งทิ้ง โดยตัดให้ต่ำกว่ารอยแผล ประมาณ 2 – 3 นิ้ว แล้วทาสารเคมี ไตรดีมอร์ฟ ในอัตรา 60 ซีซี ต่อ น้ำ 1 ลิตร ทาบริเวณบาดแผลให้ครอบคลุมเหนือและใต้รอยแผลประมาณ 10 ช.ม. ถ้าเป็นรุนแรงให้ขูดแผลแล้วใช้สารเคมีทาบริเวณแผล หรือฉีดพ่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ