สกย. ปูทางอุตสาหกรรมยางไทย เน้นแปรรูปผลผลิต ก้าวสู่ความมั่นคงและยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2015 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--สกย. สกย. ปูเส้นทางอุตสาหกรรมยางไทย เน้นรวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเป็นนิติบุคคล พร้อมแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า หนุนใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ เป็นการกระตุ้นราคายางให้สูงขึ้น ย้ำพร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มที่ นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่า ปัจจุบันการขายยางของเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังอยู่ในรูปน้ำยางข้น ยางก้อนถ้วย และยางแผ่นดิบ ทำให้ขายได้ราคาที่ค่อนข้างต่ำ สกย. พยายามที่จะส่งเสริม และสนับสนุน ให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นนิติบุคคล เพื่อที่จะแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพารา ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น ทำยางแผ่นรมควัน ยางอัดก้อน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น การแปรรูปดังกล่าว แม้จะทำให้เกษตรกรขายยางได้ในราคาที่สูงขึ้นก็ตาม แต่ยังเป็นการแปรรูปขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง และที่สำคัญยังไม่เป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ เพราะเมื่อแปรรูปแล้ว ก็ยังต้องส่งไปขายตลาดต่างประเทศเหมือนเดิม ดังนั้น หากต้องการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐ จะต้องส่งเสริม และสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ เช่น ล้อรถยนต์ ล้อเครื่องบิน ล้อรถจักรยานยนต์ ล้อรถจักรยาน และล้อรถอื่นๆ ทั้งยางนอกและยางใน รวมถึงยางอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น เพราะถือเป็นอุตสาหกรรมที่นำยางไปใช้มากที่สุดกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการใช้ยางในประเทศ หากมีการส่งเสริมให้มีการผลิตยางยานพาหนะภายในประเทศที่ได้มาตรฐานให้มากขึ้น ก็จะทำให้เพิ่มปริมาณการใช้ยางที่มากขึ้นด้วย นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมยางยืดและยางรัดของ อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นถุงมือตรวจโรค หรือถุงมือผ่าตัด อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าและอุปกรณ์กีฬา อุตสาหกรรมผลิตสายพานลำเลียง เพื่อใช้งานในการลำเลียงของหนักชนิดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฟองน้ำ อุตสาหกรรมผลิตสื่อการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นโมเดลร่างกายมนุษย์ สัตว์ แขนเทียมสำหรับฝึกทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าเช่นกัน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างและวิศวกรรม เช่น ยางรองคอสะพาน แผ่นยางกันน้ำซึม ยางกันชนหรือกันกระแทก ยางคั่นรอยต่อคอนกรีต บล็อกยางปูพื้น แผ่นยางปูอ่างเก็บน้ำ ฝายยาง แผ่นยางปูพื้น เป็นต้น และอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ก็คือ การใช้ยางพาราผสมยางมะตอย สำหรับทำผิวถนน ซึ่งจากงานวิจัยและการทดลอง พบว่าถนนที่ใช้ยางพาราผสมยางมะตอย ในอัตราร้อยละ 5 มีความแข็งแรง ทนทาน และยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้เกิดร่องล้อน้อยกว่าการใช้ยางมะตอยเพียงอย่างเดียว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษา แม้ต้นทุนการทำถนนจะสูงกว่าถนนยางมะตอยก็ตาม นอกจากนี้ ความปลอดภัยยังสูงกว่า เพราะลดการลื่นไถลของรถยนต์ได้ดีกว่าอีกด้วย นายประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากภาครัฐ โดยเฉพาะกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ตลอดจนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีการแก้ไขกฎระเบียบให้มีการนำยางพารามาผสมยางมะตอย ในการสร้างถนนทุกสายในประเทศ ก็จะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศได้ทันที แม้ต้นทุนจะสูงกว่าถนนยางมะตอยทั่วไปก็ตาม แต่มีความแข็งแรง ทนทานกว่าถึง 2 เท่า ในขณะที่ต้นทุนแพงกว่า 5% เท่านั้น ซึ่งขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ได้ลงนามความร่วมมือที่จะใช้ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนนเป็นการนำร่องแล้ว หากหน่วยงานอื่นๆ ดำเนินการเช่นนี้ด้วยจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ และจะช่วยกระตุ้นให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ