ความร่วมมือ ไทย-บราซิล สองยักษ์ใหญ่ฮาลาลโลก

ข่าวบันเทิง Wednesday July 1, 2015 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล มุสลิม 1,800 ล้านคนในโลกทุกวันนี้คือหนึ่งในสี่ของประชากรโลก อาศัยอยู่ในประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือประเทศอิสลามหรือโอไอซี (Organization of Islamic Cooperation) จำนวน 1,280 ล้านคน อยู่นอกประเทศสมาชิกโอไอซีอีก 520 ล้านคน มุสลิมทั้งหมดต้องการบริโภคอาหารฮาลาลด้วยกันทั้งนั้น รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ฮาลาลเป็นภาษาอาหรับแปลว่า "อนุมัติ" คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าฮาลาลหมายถึงเฉพาะอาหารซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ฮาลาลครอบคลุมทั้งอาหาร สิ่งที่มิใช่อาหาร และบริการต่างๆ อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องอุปโภค ผลิตภัณฑ์ยา บริการทางการแพทย์ การเงินธนาคาร โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว แม้กระทั่งไอซีที" "ตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือในวันนี้สนใจผลิตภัณฑ์ฮาลาลมากขึ้นในฐานะผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในวันนี้ตลาดฮาลาลเฉพาะอาหารอาหารในโลกนี้มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทไทยสูงถึง 33 ล้านล้านบาทต่อปี หากนับรวมผลิตภัณฑ์ที่มิใช่อาหารด้วยแล้ว ตลาดฮาลาลมีมูลค่าการตลาดสูงถึง 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยมีบราซิลเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ที่สุด ขณะที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่ามีกระบวนการรับรองฮาลาลที่ใช้แนวทางศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับที่ก้าวหน้าที่สุด นี่จึงเป็นที่มาของความร่วมมือของสองยักษ์ใหญ่ในตลาดฮาลาลของโลก แม้บราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลรายใหญ่ของโลก แต่ยังขาดความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ต่างกับประเทศไทยที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลในระดับสูงทำให้บราซิลให้ความสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยจึงได้ประสานความร่วมมือมาทางกระทรวงการต่างประเทศ ขอปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางเสริมสร้างศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของบราซิลโดยประเทศไทยจะได้พันธมิตรศักยภาพสูงที่จะสนับสนุนงานด้านการตลาดเพื่อการส่งออกสินค้าฮาลาลไทยสู่ตลาดโลกด้วย" ในงานความร่วมมือดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการนำคณะผู้แทนฮาลาลไทยเยือนประเทศบราซิล เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเดินหน้าความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้งสองประเทศ โดยไทยได้พบปะหารือกับหลายหน่วยงานของประเทศบราซิล อาทิ กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ของบราซิล สภาอุตสาหกรรมของนครรีโอเดอจาเนโร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ FIOCRUZ และที่สำคัญคือ การลงนามความร่วมมือกับองค์กรมุสลิมหลักของบราซิลคือ Federation of Muslim Associations in Brazil (FAMBRAS) รศ.ดร.วินัย กล่าวเสริมว่า "บราซิลใช้ศักยภาพของชาวอาหรับอพยพเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมฮาลาล ประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและมีวัตถุดิบปศุสัตว์ราคาถูก รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ บราซิลจึงได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งนี้ FAMBRAS ได้ก่อตั้งสถาบัน Brazilian Islamic Center for Halal Food Stuff หรือCibal Halal ทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลเพื่อให้สินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกมีคุณภาพตามมาตรฐานฮาลาล มีการส่งผู้เชี่ยวชาญออกไปตรวจสอบบริษัทหรือโรงงานต่างๆ ที่ผลิตสินค้าอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้บราซิลยังผูกเรื่องฮาลาลเข้ากับงานความรับผิดชอบของสังคมหรือ CSR เช่น การดูแลฮาลาลให้ปลอดจากแรงงานผิดกฎหมายรวมถึงแรงงานทาสด้วยเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ อย่างไรก็ตาม บราซิลยอมรับว่าเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยมีความก้าวหน้าจึงขอเรียนรู้" ในการนี้ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอผลงานของฮาลาลประเทศไทยและ Thailand Diamond Halal ให้ทางบราซิลได้ศึกษาแนวทาง ทั้งสองฝ่ายยืนยันความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพฮาลาลของทั้งสองประเทศให้ก้าวไกลในตลาดฮาลาลโลกต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ