รมว.พม.เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.๒๕๕๗ และพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.๒๔๘๔

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2015 17:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (๑ ก.ค.๕๘) เวลา ๑๔.๐๐ น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในการปฏิบัติงาน ตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.๒๕๕๗ และพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.๒๔๘๔โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หัวหน้าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน จำนวนทั้งสิ้น ๑๗๐ คน ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) มีภารกิจในการจัดบริการสวัสดิการสังคมแก่คนไร้ที่พึ่ง พัฒนารูปแบบการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิแก่คนไร้ที่พึ่ง รวมถึงการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพแก่ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. ๒๕๕๗ และพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.๒๔๘๔ ซึ่งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีหน่วยงาน ที่ดำเนินงานในการจัดบริการสวัสดิการสังคมแก่คนไร้ที่พึ่งทั้งหมดจำนวน ๑๑๓ แห่ง ประกอบด้วย สถานคุ้มครอง คนไร้ที่พึ่ง ๑๑ แห่ง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ๓๖ แห่ง ศูนย์พัฒนาชาวเขา ๑๖ แห่ง นิคมสร้างตนเอง ๔๖ แห่ง ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทักษะ ๓ แห่ง และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทานและคนไร้ที่พึ่ง ๑ แห่ง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ ความชัดเจนและมีทิศทางในการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.๒๕๕๗ และพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.๒๔๘๔ ตลอดจนการดำเนินงานตามภารกิจในการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาขอทานและคนไร้ที่พึ่ง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผล ต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย และเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวง การพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดระเบียบคนขอทานให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการขอทานแบบยั่งยืน ตั้งแต่ต้นเหตุถึงปลายเหตุ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เน้นกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทานครบวงจร ตามกระบวนการ ๓P ประกอบด้วย Policy Protection Prevention โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการขอทานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาขอทานและคนไร้ ที่พึ่ง เป็นหน่วยแรกที่ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ คัดกรอง และประสานส่งต่อกลุ่มเป้าหมายไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ ที่พึ่ง พร้อมดำเนินโครงการ "ธัญบุรีโมเดล" เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนขอทาน คนไร้ที่พึ่ง ให้มีอาชีพและ มีรายได้ ไม่ให้กลับมาขอทานซ้ำ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน และส่งเสริมการทำทาน ถูกวิธี เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนทั่วไป มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคนขอทานและคนไร้ที่พึ่ง "กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ออกแบบให้มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นสถานแรกรับให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาคนขอทาน และคนไร้ที่พึ่ง ตลอดจนการประสานส่งต่อไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้หน่วยงาน มีความรู้ ความชัดเจน และมีทิศทางในการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตนขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการปฏิบัติงานเพื่อฟื้นฟู พัฒนา และส่งเสริมคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมาย คนขอทานและคนไร้ที่พึ่ง และขอให้บูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ