สคร.7 คาดไข้เลือดออกระบาดหนัก เหตุป่วยสูงตั้งแต่ต้นปี จี้กวาดล้างยุงลาย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 8, 2015 18:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ชี้ปีนี้ไข้เลือดออกมาแรง เหตุต้นปีอัตราป่วยสูงกว่าปีที่แล้ว วอนประชาชนทุกบ้านช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 5-7 วัน นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ฝนที่ตกเป็นช่วงๆ ถือเป็นการเติมน้ำในภาชนะ ที่อาจมีไข่ยุงลายสะสมอยู่ตามขอบภาชนะจำนวนมาก ประกอบกับสภาพที่อาจมีภาวะภัยแล้ง ทำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมการกักเก็บน้ำในภาชนะ ก็ยิ่งทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน นิสัยยุงลายเป็นยุงสะอาด ไข่ในน้ำนิ่งใส แต่ยุงลายไม่ได้ไข่ในน้ำโดยตรง แต่จะไข่เหนือระดับน้ำ 1-2 เซนติเมตร เมื่อมีน้ำมาเติมท่วมจึงจะแตกตัวเป็นไข่ เป็นลูกน้ำ และเป็นยุงลายตัวเต็มวัยต่อไปใช้เวลาทั้งหมด 7-10 วัน ประชาชนรวมถึงหน่วยงานในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันทำลายแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 มิถุนายน 2558 พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วทั้งสิ้นจำนวน 1753 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดอุบลราชธานี พบผู้ป่วย 725 ราย รองลงมาคือจังหวัดศรีสะเกษ พบผู้ป่วย จำนวน 503 ราย และคาดว่าในปีนี้ จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว ถึง 900 ราย (ปี 2557 พบผู้ป่วยทั้งหมด 1683 ราย) นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า การป้องกันไข้เลือดออกจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐฯ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 5-7 วัน หรือป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ตามแหล่งน้ำสะอาด ซึ่งเป็นวิธีการลดจำนวนตัวยุงลายตัวแก่อย่างได้ผลดี โดยเน้นกิจกรรม 5ป 1ข ได้แก่ 1.ป ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด 2.ป เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน 3.ป ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ 4.ป ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ5.ป ปฏิบัติเป็นประจำให้เป็นนิสัย ส่วน 1ข คือ ขัดภาชนะที่อาจมีคราบไข่ยุงเกาะอยู่ รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้งและทายากันยุง และการค้นหาผู้ป่วยโดยเร็ว เพราะหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อย่างถูกต้อง จะลดจำนวนผู้ป่วยและลดการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้ ทั้งนี้ อาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูกเหมือนไข้หวัด เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออก ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานโรค จะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ โดยหลังจากไปพบแพทย์และแพทย์ให้กลับมาดูแลที่บ้าน ให้เช็ดตัวลดไข้ หรือกินยาพาราเซตามอลลดไข้ ห้ามซื้อยาประเภทแอสไพริน หรือไอบูโปรเฟนมากินเองอย่างเด็ดขาด เนื่องจากยาทั้ง 2 ชนิดนี้อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น ให้ผู้ป่วยกินอาหารที่ทำให้ร่างกายสดชื่น เช่น น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ และให้พักผ่อนมากๆ ช่วงที่ต้องให้ความใส่ใจผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด คือช่วงที่ไข้ลด ซึ่งมักจะอยู่ในวันที่ 3-4 หากพบผู้ป่วยซึมลง กินไม่ได้ แสดงว่าผู้ป่วยอาจเข้าสู่ภาวะช็อก ขอให้รีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาให้ทันท่วงที นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ