เตรียมพร้อมจากก้าวแรกสู่เก้าเดือน เพื่อสุขภาพลูกน้อยในครรภ์

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2015 15:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--โรงพยาบาลปิยะเวท เมื่อแต่งงานมีครอบครัว หลายครอบครัวก็เริ่มวางแผนที่จะมีลูก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์ เมื่อคุณผู้หญิงเริ่มรู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว สิ่งที่ควรทำคือการพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์และขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัวจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลครรภ์ เพื่อให้ตลอดระยะเวลา 9 เดือน เป็น 9 เดือนที่ทารกในครรภ์จะคลอดออกมามีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง คุณแม่จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสมาชิกใหม่ที่จะเกิดขึ้น นายแพทย์พิเชฐ ผนึกทอง สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท แนะนำว่า การฝากครรภ์สิ่งควรเตรียมตัวก่อนการไปพบแพทย์ คือ ประวัติโรคประจำตัวของคุณแม่(ถ้ามี) รวมไปถึงยาที่ใช้ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการล่าสุด การตรวจสอบประวัติครอบครัว ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายว่ามีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือโรคบางอย่างที่อาจทำอันตรายเมื่อตั้งครรภ์ และสภาวะบางอย่างที่มีผลต่อการคลอด ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ผู้รับฝากครรภ์เป็นอย่างมากถ้าทราบล่วงหน้าจะทำให้แพทย์สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมและถูกวิธี เดือนที่ 1 ของการตั้งครรภ์คุณแม่บางท่านยังไม่ทราบเลยว่าตนเองตั้งครรภ์ เนื่องจากประจำเดือนเพิ่งเริ่มขาด โดยเฉพาะในบางท่านที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อาจมีอาการผิดปกติ เช่น คัดตึงเต้านม อาการอยากอาหาร รู้สึกเพลียอยากพักผ่อนตลอดเวลา มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อไปตรวจครรภ์คุณหมออาจขอตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์ซ้ำเพื่อยืนยัน ในบางท่านที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และอาจจะอัลตราซาวด์ดูการตั้งครรภ์ว่าอยู่ในโพรงมดลูก หรือตั้งครรภ์นอกมดลูกซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคุณแม่ คุณแม่ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเมื่อไม่สบาย เนื่องจากยาบางตัวจะส่งผลต่อการพัฒนาอวัยวะของลูกน้อยอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในเดือนแรกคือ การมีเลือดออกบริเวณช่องคลอด คุณแม่ควรสังเกตตัวเองเพราะนั่นอาจเป็นสาเหตุของภาวะแท้งบุตรได้ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที เดือนที่ 2 คุณแม่อาจพบว่ามีเลือกออกตามไรฟัน เพราะเนื้อเยื่อที่เหงือกจะอ่อนนุ่มมากขึ้นนั่นเอง แต่การมีเลือดออกอาจตามมาด้วยการอักเสบ ดังนั้นคุณแม่อาจจำเป็นต้องปรึกษาทันตแพทย์ และทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร อาการแพ้ท้องอาจรุนแรงขึ้นในบางท่าน พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่รสจัดและกลิ่นรุนแรง เพราะจะกระตุ้นให้การแพ้มากขึ้น ในรายที่ไม่สามารถทานอาหารได้ ควรมาพบแพทย์ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนนี้คือ ปวดปัสสาวะบ่อย ท้องผูก รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย แท้งบุตร และท้องนอกมดลูก เดือนที่ 3 อาการแพ้ท้องจะเริ่มทุเลาลง ทารกในครรภ์จะเริ่มเคลื่อนไหวได้ แต่คุณแม่จะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวต่างๆ ของทารกในตอนนี้ คุณหมอจะอัลตราซาวด์อีกครั้งเพื่อตรวจดูทารกในครรภ์ว่าเป็นครรภ์เดี่ยว หรือครรภ์แฝด วัดความยาวของทารกเพื่อคำนวณกำหนดคลอดร่วมกับวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่มา ระยะนี้คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีปริมาตรของเลือดเพิ่มมากขึ้น แต่พลาสมาอาจเพิ่มขึ้นไม่เพียงพอซึ่งอาจทำให้คุณมีภาวะโลหิตจางได้ การตรวจเลือดเพื่อหาภาวะโลหิตจางจึงเป็นสิ่งจำเป็น คุณหมอจะให้ยาบำรุงครรภ์ไปทาน ซึ่งมีธาตุเหล็ก และสารไอโอดีน เป็นส่วนผสมหลักของยา เพื่อป้องกันภาวะซีดในคุณแม่ และภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในลูกน้อย เดือนที่ 4 คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างชัดเจน เสื้อผ้าอาจเริ่มคับและอึดอัด อาจจะต้องเปลี่ยนมาใส่ชุดคลุมท้องกันแล้วในเดือนนี้ สำหรับพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ในช่วงเดือนที่ 4 นี้ ทารกในครรภ์จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แขนและข้อต่อต่างๆ พัฒนาไปจนเกือบสมบูรณ์ การตรวจอัลตราซาวด์ในเดือนนี้จะสามารถมองเห็นโครงหน้าได้ชัดเจนขึ้นรวมถึงการทราบเพศของลูกน้อยด้วย เดือนที่ 5 คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกเจ็บแปลบบริเวณหน้าท้องด้านล่าง มีอาการปวดหลัง เล็บมือเล็บเท้าเปราะบาง ผมร่วง ซึ่งถือว่าเป็นอาการปกติ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่มากขึ้น มดลูกขยายใหญ่ขึ้น ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพิ่มขึ้นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนด้วย แต่ในเดือนนี้คุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกอย่างชัดเจนแล้ว อาการแพ้ท้องต่างๆ ก็จะหมดไป ที่สำคัญทารกจะสามารถได้ยินเสียงและจดจำเสียงของคุณแม่ได้ และตอบสนองต่อเสียงภายนอกได้ด้วย เช่น ทารกจะเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียงดนตรี เป็นต้น เดือนที่ 6 ภาวะแทรกซ้อนที่ควรระวังเป็นพิเศษคือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นท้องแรก การเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การอักเสบติดเชื้อราจะพบได้ง่ายมากและการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยขึ้น ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แนะนำให้คุณแม่ดูแลเรื่องอาหารเป็นพิเศษ การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กมีความจำเป็นสำหรับระบบไหลเวียนโลหิตของคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย ลูกน้อยในครรภ์จะมีการพัฒนาการรับรู้โดยการฟัง คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยกับทารก อ่านนิทาน เปิดเพลงกระตุ้นพัฒนาการ เดือนที่ 7 เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกได้ดีถึงการเคลื่อนไหวของทารก เนื่องจากปริมาณน้ำคร่ำลดน้อยลง ท้องที่โตมากขึ้นทำให้คุณแม่หายใจเร็วขึ้น เพราะมดลูกที่โตจะมาดันกระบังลมทำให้หายใจได้สั้นๆ มดลูกเองก็จะบีบตัวเป็นระยะห่างๆ กัน เป็นการเริ่มต้นการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นแต่ก็ไม่ถึงกับมีการเจ็บปวดและจะบีบรัดตัวครั้งละไม่นานเกิน 30 วินาที ในระยะนี้คุณแม่ควรจะได้เข้าอบรมเรียนรู้ขั้นตอนการเตรียมคลอด ทางเลือกในการคลอด เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเมื่อเจ็บครรภ์คลอดและเข้าสู่กระบวนการคลอด ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้คือการคลอดก่อนกำหนด เดือนที่ 8 ทารกมีการพัฒนารูปร่างรวมถึงสมองอย่างรวดเร็วในเดือนนี้ ลองคุยกับลูกหรือเปิดเพลงเบาๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย ทารกจะหมุนตัวกลับเอาศรีษะลงไปสู่เชิงกรานของแม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับคลอด แต่บางทีไม่เป็นเช่นนั้น โดยแพทย์จะสามารถตรวจได้จากการอัลตราซาวด์และถ้าหากในเดือนที่ 9 ทารกยังคงไม่หมุนศีรษะกลับลงมา การผ่าคลอดก็จะถูกกำหนดขึ้น คุณแม่จะรู้สึกถึงความอึดอัดท้องที่โตขึ้นทำให้พื้นที่ปอดขยายลดลงจะรู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจเร็วและสั้น กระเพาะปัสสาวะจะถูกกด ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และเป็นตระคริวบ่อยขึ้น คุณแม่ควรจะต้องเรียนรู้กระบวนการคลอดและสังเกตถึงความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น น้ำเดิน ลูกดิ้นน้อยลง คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น ต้องรีบมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที ควรจะเตรียมเครื่องใช้สำหรับการเข้าอยู่ในโรงพยาบาลไว้ให้พร้อม เดือนที่ 9 คุณแม่หลายคนเริ่มนับถอยหลังกันแล้ว วันเวลาแห่งการรอคอยกำลังจะมาถึง เดือนสุดท้ายนี้คุณแม่จะอุ้ยอ้ายมากขึ้นแต่อาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ จะลดลงเนื่องจากทารกเคลื่อนตัวมาสู่ช่องเชิงกรานแล้ว อาการแสดงว่าจะคลอด จะมีการบีบรัดตัวของมดลูกรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีอาการปวดท้องเป็นพักๆ คุณแม่บางคนมีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด ภาวะน้ำเดิน เมื่อคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์ถี่ขึ้น มีน้ำเดิน ลูกดิ้นน้อยลง หรืออาการของครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาการสำคัญดังกล่าวที่จะบอกว่าคุณแม่ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน อาการและความรู้สึกต่างๆ ดังที่กล่าวมานั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนจะรู้สึกได้ บางคนก็มีอาการมากบางคนก็มีอาการน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและการปฏิบัติตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคน ทั้งนี้การดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ