กระทรวงวัฒนธรรมมอบรางวัลยกย่องผู้ใช้ภาษาไทย และเพชรในเพลง เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2558

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2015 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2558 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ในฐานะบุคคลผู้ผดุง สร้างสรรค์และถ่ายทอดการใช้ภาษาไทยเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง และการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) โดยคัดเลือกบุคคลในวงการเพลง อาทิ นักแต่งเพลง หรือศิลปินนักร้อง เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลง ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการใช้ภาษาไทย และสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีคุณภาพทั้งการประพันธ์คำร้องและผู้ขับร้อง เพื่อให้เยาวชนและประชาชนมีความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของวันภาษาไทย และร่วมกันส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทยให้อยู่คู่ชาติไทยตลอดไป โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นายปรารพ เหล่าววานิช เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดี กรมศิลปากร และนางสาวนันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมด้วยผู้บริหาร ศิษยานุศิษย์ นักศึกษา เยาชนและประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก กระทรวงวัฒนธรรมได้คัดเลือกบุคคลที่มีผลงานสร้างสรรค์ด้านการใช้ภาษาไทย หรือภาษาถิ่นได้อย่างเหมาะสม มีความสามารถ ความชำนาญ มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่าง ที่ดีให้แก่บุคคลในองค์กร และสังคม รวมถึงบุคคลหรือองค์กรที่มีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุน ศึกษา และสร้างคุณประโยชน์ต่อวงการภาษาไทยหรือภาษาไทยถิ่นอย่างต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์ ดังนี้ 1. ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ 2. ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน 6 ราย ได้แก่ 2.1 นายกัญจนปกรณ์ แสดงหาญ 2.2 นางสาวนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว 2.3 นายประพันธ์ หิรัญพฤกษ์ 2.4 นายประภาส ชลศรานนท์ 2.5 นางศรีนวล ขำอาจ 2.6 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกุล บุณยทัต 3. ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 3.1 นายเกริก อัครชิโนเรศ 3.2 นางนวลจันทร์ ไชยวงศ์ 3.3 นายปฐม มุสิกะ 3.4 นายวิจิตร ดำประสิทธิ์ 3.5 นายศรีเลา เกษพรหม 4. ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย 4.1 นายประเสริฐ รักษ์วงศ์ 4.2 นางปราณี ปราบริปู ส่วนการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์และค่านิยมไทย เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงผู้มีผลงานดีเด่นด้านการใช้ภาษาไทย รวมถึงสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์ผลงานเพลงอย่างมีคุณภาพทั้งการประพันธ์คำร้องและผู้ขับร้อง โดยมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้ 1. รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษผู้มีคุณูปการต่อวงการเพลงไทยเดิม ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล 2. รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษผู้มีคุณูปการต่อวงการเพลงไทยสากล ได้แก่ นายกุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา 3. รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษผู้มีคุณูปการต่อวงการเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ นายชานนท์ ภาคศิริ (สุรินทร์ ภาคศิริ) 4. รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษเพลงชุดดีเด่นสำหรับเด็ก ได้แก่ ชุดเด็กเจื้อยแจ้ว ผู้บริหารโครงการโดย นางพรพรรณ ชัยนาม 5. รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษวงดนตรีเพลงสำหรับเด็ก ได้แก่ วงอุ่นไอวัยเยาว์ ผู้ควบคุมวง นายอนุสรณ์ สายนภา 6. รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษรายการโทรทัศน์ผู้สร้างโอกาสศิลปินลูกทุ่ง ได้แก่ รายการชิงช้าสวรรค์ ผู้อำนวยการผลิตรายการ นายปัญญา นิรันดร์กุล 7. รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ 7.1 ประเภทเพลงไทยสากล ได้แก่ เพลงชาวดง ผู้ประพันธ์ นายวิมล จงวิไล 7.2 ประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ เพลงอีสานบ้านเฮา ผู้ประพันธ์ นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุขา 7.3 ประเภทเพลงส่งเสริมคุณธรรม ได้แก่ เพลงรักกันไว้เถิด ผู้ประพันธ์ นายนคร ถนอมทรัพย์ 8. รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ 8.1 ประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงวันพรุ่งนี้ ผู้ประพันธ์ นายประภาส ชลศรานนท์ รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงอยากได้ยิน ผู้ประพันธ์ นายยืนยง โอภากุล และเพลงหัวใจ ให้แผ่นดิน วิญญาณให้ความรัก ผู้ประพันธ์ นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา 8.2 ประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงทวงรักฝากลม ผู้ประพันธ์ นายบำเรอ ผ่องอินทรกุล (โน้ต เชิญยิ้ม) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงกระเป๋าสมปอง ผู้ประพันธ์ นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ (ศักดิ์สิริ มีสมสืบ) และเพลงพรจากปากแม่ ผู้ประพันธ์ นายสัญญารักษ์ ดอนศรีฐิติโชติ (สัญลักษณ์ ดอนศรี) 8.3 ประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงส่งเสริมคุณธรรม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงนารีรัตนา ประพันธ์โดย นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา และศิลปินในโครงการปทุมมาสิกขาลัย รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงชีวิตนี้น้อยนัก แต่สำคัญนัก ประพันธ์โดย ฐิตว์โสภิกขุ และเพลงสัจจะอุบาสก อุบาสิกา ประพันธ์โดย นางวาณี จูฑังคะ 9. รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นภาษาไทย จำนวน 4 ประเภท ได้แก่ 9.1 ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงอยากได้ยิน ขับร้องโดย นายยืนยง โอภากุล รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงหัวใจให้แผ่นดิน วิญญาณให้ความรัก ขับร้องโดย นายณัฐพนธ์ วงษ์สนิท (หวิว ณัฐพนธ์) และเพลงความรักสวยงามเสมอ ขับร้องโดย นายธนทัต ชัยอรรถ (แกงส้ม เดอะสตาร์) 9.2 ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ไม่มีผู้สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงกลางพนา ขับร้องโดย นางดวงดาว เถาว์หิรัญ และเพลงสัจจะอุบาสก อุบาสิกา ขับร้องโดย นางวาณี จูฑังคะ 9.3 ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงกระเป๋าสมปอง ขับร้องโดย นายรวมมิตร คงชาตรี (จ่อย รวมมิตร ไมค์ทองคำ) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงขอโง่อีกสักครั้ง ขับร้องโดย นายธนพล สัมมาพรต (แจ็ค ธนพล อาร์สยาม) และเพลงพรจากปากแม่ ขับร้องโดย นายยิ่งคุณ ประจันทอน (แมน มณีวรรณ อาร์สยาม) 9.4 ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงทวงรักฝากลม ขับร้องโดย นางสาวสุทธิยา รอดภัย (ใบเฟิร์น สุทธิยา ไมค์ทองคำ) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงกุหลาบในใจน้อง ขับร้องโดย นางสาวฐิตาภา ใต้ไธสง (หญิง ธิติกานต์ อาร์สยาม) และเพลงเมรี ขับร้องโดย นางสาวนิภาพร บุญยะเลี้ยง และนางสาวฐิฆพรณ์ บุญยะเลี้ยง(กระแต และกระต่าย อาร์สยาม) นอกจากนี้ ภายในงานยังได้การจัดแสดงนิทรรศการเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย และการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) รวมถึงการแสดงพื้นบ้านและขับร้องเพลง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติไทยสู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป สำหรับรายละเอียดสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงวัฒนธรรม โทร. สายด่วนวัฒนธรรม 1765

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ