‘สปช.วิบูลย์’ ชี้รัฐต้องเร่งส่งเสริมโรงไฟฟ้าจากขยะ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 14, 2015 12:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--ผู้ช่วยดำเนินงานสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมาในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการผ่านความเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วาระปฏิรูปที่ 25 : ระบบการบริหารจัดการทรัพยากร (รอบ 2) เรื่อง การปฏิรูประบบกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน โดยเนื้อหาหลักของรายงานฉบับนี้ระบุว่าปัจจุบันแต่ละชุมชนจะผลิตขยะออกมาวันละจำนวนมาก ขยะชุมชนเหล่านี้ส่วนมากมักจะใช้วิธีกำจัดแบบฝังกลบซึ่งไม่สามารถปฏิบัติการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาลได้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการปล่อยให้มีการเทกองไว้กลางแจ้งสะสมไว้ในสถานที่กลบฝังขยะเป็นกองขยะขนาดใหญ่ และแก้ปัญหานี้ได้ยากลำบากขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำการปฏิรูประบบกำจัดขยะในประเทศไทย โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอว่าควรใช้วิธีกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในแต่ละพื้นที่ให้ครอบคลุมกระจายทั่วทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 80 แห่ง ต่อกรณีนี้ นายวิบูลย์ คูหิรัญ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีความเห็นว่าปัญหาขยะในประเทศไทยถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญดังที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอรายงานไว้ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนรัฐบาลควรสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะอย่างเร่งด่วน ซึ่งตนได้เคยหารือที่ประชุม สปช. ผ่านไปยังรัฐบาลหลายครั้งแล้ว โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อนำไปกำจัดขยะทั่วไปตามท้องที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ในปัจจุบันพบว่ามีภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนต่าง ๆ เช่น หญ้าเนเปียร์หมักเป็นก๊าซ ก็มีความสนใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งรัฐบาลควรเร่งประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะจากภาคเอกชนควบคู่กันไปด้วย กอปรกับในหลายพื้นที่ที่เอกชนมีความพร้อมในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะนั้นระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ก็สามารถรองรับได้ แต่ในขณะนี้ปรากฏว่ายังไม่มีการประกาศรับซื้อ จึงเห็นว่าควรประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะโดยเร็ว นายวิบูลย์ยังระบุว่าหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้เคยรับสั่งกับตนไว้ว่าควรรีบกำจัดขยะที่เป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อมโดยนำไปผลิตไฟฟ้าซึ่งจะสามารถได้ประโยชน์ทุกทาง ตัวอย่างจากในต่างประเทศโรงไฟฟ้าขยะนั้นก็มีอยู่แพร่หลาย และถือว่าเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดีอีกทางเลือกหนึ่ง โดยหม่อมเจ้าภีศเดช มีความยินดีที่จะสนับสนุนโครงการเหล่านี้ ซึ่งในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หลังจากที่หม่อมเจ้าภีศเดชทรงเสด็จกลับจากยุโรป ก็ทรงนำสิ่งที่ได้พบมาให้แนวความคิดสนับสนุนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ จ.เชียงใหม่ ด้วย อนึ่งข้อมูลจากกระทรวงพลังงานที่เปิดเผยเมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมาระบุว่าปัจจุบันการผลักดันการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะในประเทศไทย มีการใช้พลังงานจากขยะที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ได้เพียง 74.717 เมกะวัตต์ เท่านั้นซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ แล้ว จากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนในปี 2556 พบว่าภาพรวมของการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้น พลังงานจากชีวมวลมีกำลังผลิตสูงสุดคือ 2,230.05 เมกะวัตต์ ตามมาด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 635.48 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 262.73 เมกะวัตต์ พลังงานลม 222.71 เมกะวัตต์ (ส่วนในปี 2556 ไฟฟ้าจากพลังขยะมีเพียง 47.48 เมกะวัตต์เท่านั้น)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ