นักวิจัยชี้ ‘ชีวมวล’ เป็นพลังงานทดแทนคุณภาพดีแต่มีมูลค่าการลงทุนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2015 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โครงการ “กิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมเวที สกว. (TRF Forum) เรื่อง “พืชพลังงาน: จากงานวิจัยสู่นโยบาย" เพื่อนำเสนอข้อมูล ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่ได้จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการใช้ชีวมวลพลังงาน การสร้างมาตรฐานชีวมวลกลางของประเทศ รวมทั้งการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาความท้าทาย โอกาสของภาคเกษตรไทยในการใช้ชีวมวล และนโยบายที่จะนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานชีวมวล ในอนาคต ณ โรงแรม เดอะสุโกศล ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ นักวิจัย สกว.อาจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยพลังงานและสิ่งแวดล้อม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า พลังงานชีวมวลเป็นพลังงานที่หลายคนมองว่าถ้าลงทุนกับมันแล้วได้ไม่คุ้มเสีย แต่หากมองถึงประสิทธิภาพของมัน นับได้ว่าพลังงานชีวมวลมีจุดเด่นที่ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากมันเป็นพลังงานทดแทนได้ เพราะมีศักยภาพสูง สามารถกักเก็บพลังงานที่ตัวเชื้อเพลิง ช่วยลดมลภาวะจากน้ำเสียอุตสาหกรรมเกษตร และการเผาทำลายวัสดุคงเหลือทางการเกษตร ด้าน รศ.ดร.สุนีรัตน์ ฟูกูดะ นักวิจัยจากหน่วยงานเดียวกัน กล่าวว่า หากพูดถึงถึงพลังงานชีวมวลของไทย ปัจจุบัน เรากำลังประสบปัญหาทั้งในหลายๆด้าน กล่าวคือ ทางด้านวัตถุดิบ เรายังมีปริมาณวัตถุดิบไม่เพียงพอ ต่อการแปรรูปเป็นพลังงานตลอดปี แม้ราคาวัตถุดิบจะถูกกว่าพลังงานเชื้อเพลิงแต่หากบวกรวมค่าขนส่งเข้าไป จะพบว่ามีต้นทุนโลจิสติกส์สูงกว่า ในส่วนของผู้ผลิตพลังงาน ถ้าอุตสาหกรรมการผลิตโรงไฟฟ้าใช้พลังงานชีวมวลเป็นวัตถุดิบ จะประสบปัญหาด้านการลงทุนสูง หากต้องการระบบที่มีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการดูแล้วว่ายังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ไทยเรายังไม่มีต้นแบบที่ดีของการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า กฎหมายและระเบียบยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน ขั้นตอนยุ่งยาก ขาดบุคลากรที่เข้าใจและเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีต่างๆ ทางด้านการกำกับและส่งเสริมจากรัฐ โรงงานไม่มีแรงจูงใจที่จะใช้พลังงานชีวมวลในอุตสาหกรรมของตน เพราะรัฐไม่มีข้อบังคับในการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบ รัฐยังไม่มีมาตรฐานเชื้อเพลิง เช่น มาตรฐานน้ำมัน ไพโรไลซิสจากชีวมวล ขาดการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนที่มากพอ นอกจากนี้ปัจจุบันงานวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวมวล ยังมีน้อยมาก ขาดการส่งเสริมจากระดับห้องปฏิบัติการไปสู่ ระดับโรงงานต้นแบบสาธิตและเชิงพาณิชย์ อีกทั้งการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นไปได้ยาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ