สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 7-11 ก.ย. 58 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 14-18 ก.ย. 58 โดยฝ่ายแผนและบริหารบริษัทในเครือ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 14, 2015 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวลดลง 2.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลง 0.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ • ธนาคารกลางจีน เผยปริมาณทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) ในเดือน ส.ค. 58 ลดลง 9.39 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนถึงความพยายามของจีนที่จะสร้างเสถียรภาพในตลาดเงิน • สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor's ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศบราซิล จากระดับ BBB-Minus สู่ระดับ BB-Plus ซึ่งเป็นอันดับเครดิตระดับ Junk ขั้นแรกของระบบการวัดโดย Standard & Poor's ปัจจุบันเศรษฐกิจบราซิลอยู่ในภาวะถดถอย (Recession) ที่ค่าเงิน Real ลดลงถึง 30% ในปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 10% และหากสำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเมินเศรษฐกิจบราซิลในทิศทางเดียวกัน จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมของรัฐและเอกชน • China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) รายงานยอดจำหน่ายรถยนต์ของจีนในเดือน ส.ค. 58 ลดลงจากปีก่อน 3% มาอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน CAAM ประเมินยอดขายรถในประเทศปีนี้จะเติบโตจากปีก่อน 3% ลดลงจากประมาณการณ์ครั้งก่อนที่ 7% เพราะกำลังซื้อลดลงหลังได้รับผลกระทบจากดัชนีตลาดหุ้นจีนลดลง • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูงโดย Reuters รายงานว่าซาอุดีอาระเบียจะผลิตน้ำมันในระดับสูงประมาณ 10.2-10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตลอดช่วงไตรมาสที่ 4/58 เนื่องจากเชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบในตลาดโลกจะสูงขึ้น และ รัสเซียผลิตน้ำมันดิบปัจจุบันที่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้ถึงระดับ 14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในอีก 2 ทศวรรษ • กรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเดือน ส.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 6.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากท่าส่งออก Tianjin (0.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ยังคงปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 58 กอปรกับการลดอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในจีน ทั้งนี้ Energy Aspects มองว่าปริมาณการนำเข้าในเดือนหน้ายังคงอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากการลดอัตราการกลั่นและเข้าสู่ช่วงการปิดซ่อมบำรุง • Reuters รายงานผู้ผลิต Shale Oil รายใหญ่ในสหรัฐฯหลายรายประกาศลดงบประมาณการลงทุน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดตกต่ำ อาทิ Marathon Oil Corp. ลดการลงทุนปี 2559 ลง 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่ำกว่าปีก่อน 15% และบริษัท Continental Resources Inc. ปรับลดเงินลงทุนเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ เพื่อให้วงเงินลงทุนลดลง 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ • ความคืบหน้าในการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายบารัค โอบามา ได้รับเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกจำนวน 41 เสียง ในการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งเพียงพอต่อการผลักดันร่างดังกล่าวท่ามกลางการคัดค้านของเหล่าสมาชิกสภาคองเกรส ภายใต้ข้อตกลงนี้มาตรการคว่ำบาตรต่างๆที่กำหนดโดยสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และสหประชาชาติจะถูกยกเลิก ส่งผลให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้มากขึ้น • EIA ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกปี 2558 มาอยู่ที่ 93.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากประมาณการณ์ครั้งก่อนในเดือน ส.ค. 58 แต่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอุปสงค์ที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาจากสหรัฐฯ ปริมาณ 0.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน, จีน 0.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ อินเดีย 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2559 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 94.93 ล้านบาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ปริมาณ 1.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก • สำนักงานรัฐมนตรีของญี่ปุ่นรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาสที่ 2/58 เป็นครั้งที่ 2 หดตัวที่ 1.2% จากปีก่อน และหดตัวน้อยกว่ารายงานครั้งแรกที่ 1.6% ขณะที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์ญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าGDP ไตรมาสที่ 3/58 จะขยายตัวจากปีก่อน 1.67% ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์เดือนก่อนว่าจะเติบโตจากปีก่อน 2.48% • กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry หรือMETI) รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของญี่ปุ่นเดือน ก.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10.9% มาอยู่ที่ระดับ 3.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 20% มาอยู่ที่ระดับ 0.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน · Platts รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของยุโรปจากประเทศไนจีเรียและแองโกลา เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 1.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน ) เนื่องจากค่าการกลั่นในยุโรปเพิ่มสูงขึ้น และค่าระวางเรือขนส่งน้ำมันดิบขนาด 900,000 บาร์เรล จากแอฟริกาตะวันตก (West Africa หรือ WAF) ไปอังกฤษปรับลดลงจาก 95 Worldscale ในวันที่ 8 ก.ค. 58 มาสู่ระดับ 51.25 Worldscale ในวันที่ 2 ก.ย.58 · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานการณ์ลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.ย. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้น 19,576 สัญญา WoW มาอยู่ที่ 135,952 สัญญา · Baker Hughes Inc. รายงานแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.ย. 59 ลดลง 10 แท่น มาอยู่ที่ 652 แท่น ลดลงต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent และ NYMEX WTI ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังจากที่ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ราคาเคลื่อนไหวรุนแรงในช่วง 4-7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้ การคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบรวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบจากหลายสำนักยังมีความขัดแย้งกัน ดังเห็นได้จาก Goldman Sachs ซึ่งมีมุมมองด้านลบ ล่าสุดปรับลดประมาณการณ์ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTIปี 2559 ลงมาอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 57 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ ICE Brent ปรับราคาลงมาอยู่ที่ 49.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเดิมที่ 62 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม รายงานของ IEA ฉบับเดือน ก.ย. 58 ระบุว่าอุปทานน้ำมันดิบจากประเทศนอกกลุ่ม OPEC ในปี 2559 จะหดตัวลงจากปีก่อน 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 24 ปี เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบต้นทุนสูง ตั้งแต่สหรัฐฯ, รัสเซีย และผู้ผลิตบริเวณทะเลเหนือต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำ โดยเฉพาะปริมาณการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ จะหดตัวจากปีก่อน 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2559 หลังจากทำสถิติขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากปีก่อนถึง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2557 อันเป็นต้นเหตุสำคัญให้ราคาน้ำมันดิบตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาน้ำมันระดับต่ำ IEA ประเมินว่าอุปสงค์น้ำมันดิบในปี 2558 จะขยายตัวจากปีก่อน 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 5 ปี และคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปถึงปี 2559 ซึ่งเติบโตจากปีก่อน 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับปี 2557 ซึ่งขยายตัวจากปีก่อน 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 5 ปี กล่าวโดยสรุป โลกจะต้องการใช้น้ำมันจาก OPEC (Call-on-OPEC) ในปี 2559 ถึง 31.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 นั้น Call-on-OPEC จะสูงถึง 32 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นครั้งแรกที่โลกต้องการน้ำมันดิบจาก OPECมากกว่าที่ OPEC ผลิตได้ ส่วนกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้ ราคา ICE Brent, Dubai และ NYMEX WTI เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46.9-51.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, 44.87-49.47 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, 43.8-47.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินทรงตัวจากสัปดาห์ก่อนโดยปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.01 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลจากข่าว โรงกลั่นน้ำมัน Sohar (116,000 บาร์เรลต่อวัน) ในโอมาน ปิดดำเนินการฉุกเฉินเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 58 เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค ทั้งนี้โรงกลั่นดังกล่าวมีหน่วย Residue Fluid Catalytic Cracker (RFCC)ใช้ผลิตน้ำมันเบนซินขนาด 75,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซิน ในเอเชียมีแนวโน้มทรงตัว จากอุปทานเริ่มลดลง เนื่องจากโรงกลั่นในภูมิภาคเริ่มเข้าฤดูปิดซ่อมบำรุง อาทิ บริษัท Essar Oil จากอินเดีย เผยแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Vadinar (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงกลางเดือน ก.ย. 58 เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน และ โรงกลั่นน้ำมัน Petro Rabigh (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในซาอุดีอาระเบียมีแผนปิดซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 50 วัน ตั้งแต่ 4 ต.ค. 58 เป็นต้นไป อนึ่ง โรงกลั่นดังกล่าวมีกำลังการผลิตน้ำมันเบนซินที่ 59,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ Kuwait Petroleum Corp. (KPC) จากคูเวต ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 95 RONปริมาณ 212,500 – 425,500 บาร์เรล ส่งมอบ 7-17 ต.ค. อีกทั้ง International Enterprise Singapore (IES)รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 9 ก.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 11.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 9 สัปดาห์ และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรป บริเวณ Amsterdam- Rotterdam- Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 10 ก.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.9% มาอยู่ที่ 8.2 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Maoming Petrochemical ของจีนผลิตน้ำมันเบนซินช่วงเดือน ม.ค.- ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% อยู่ที่ 22.1 ล้านบาร์เรล และโรงกลั่น Mailiao (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ในไต้หวันมีแผนจะเพิ่มอัตราการกลั่นจากเดิมที่ 74% ในเดือน ส.ค. 58 มาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 90% ในเดือน ก.ย. 58 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.14-68.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง จากข่าว Oman Oil Refineries and Petroleum Industries Co. (ORPIC) เผยโรงกลั่น Mina al-Fahal (กำลังการกลั่น 106,000 บาร์เรลต่อวัน) กลับมาดำเนินการเต็มกำลังอีกครั้ง ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับสูง โดย PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในยุโรป บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 10 ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.1% มาอยู่ที่ 27.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 9 ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 13.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี อย่างไรก็ตามPlatts คาดการณ์ความต้องการใช้ Kerosene (น้ำมันทำความอบอุ่นซึ่งถือเป็นน้ำมันกลุ่มเดียวกับน้ำมันดีเซล)ในบริเวณเอเชียเหนือในช่วงหน้าหนาวจะเพิ่มขึ้น หลังจากรายงานปริมาณสำรองแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ โรงกลั่นน้ำมัน Vadinar (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Essar Oil ในอินเดียมีแผนปิดซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 58 เป็นต้นไป อีกทั้ง Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียได้รับแรงสนับสนุนจาก Arbitrage ไปยังยุโรป และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากแอฟริกาตะวันตก สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.66-63.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ