สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 14-18 ก.ย. 58 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 21-25 ก.ย. 58 โดยฝ่ายแผนและบริหารบริษัทในเครือ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2015 17:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวลดลง 0.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ปรับตัวลดลง 1.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ Goldman Sachs ปรับลดประมาณการราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI ปี 2559 ลงมาอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่คาดการณ์ราคา ICE Brentอยู่ที่ 49.5เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลงจากเดิมที่ 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อิหร่านมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น หลังจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับ 6 ชาติมหาอำนาจ ได้ผ่านการทบทวนในวุฒิสภาสหรัฐฯเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 58 แม้ทางฝั่งพรรค Republican พยายามคัดค้านหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ องค์กรประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of the Petroleum Exporting Countries) หรือกลุ่มOPEC แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดน้ำมัน โดยประเทศสมาชิกปรับลดราคาขายทางการ (Official Selling Price: OSP) สำหรับเดือน ต.ค. 58 ให้แก่ลูกค้าในเอเชีย อาทิ คูเวต ปรับ OSP ลดลง ต่ำกว่า OSP ของซาอุดีอาระเบียมากที่สุดในรอบ 10 ปี รัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak เผยว่ารัสเซียได้ปฏิเสธที่จะลดกำลังการผลิต จากคำเรียกร้องของประเทศกลุ่ม OPEC อาทิ เวเนซูเอลา, เอกวาดอร์ และแอลจีเรีย ทั้งนี้รัสเซียผลิตปิโตรเลียมรวมถึงคอนเดนเสท ในระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัว อาทิ สำนักสถิติแห่งชาติรายงานการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เดือน ม.ค.-ส.ค. 58 เติบโตเพียง 10.9 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นับเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี และผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 58 เติบโตเพียง 6.1% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเติบโต 6.4% กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นรายงานยอดส่งออกไปจีนเดือน ส.ค. 58 ลดลงจากปีก่อน 4.6% ขณะที่เดือน ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.2% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่เดือน ก.พ. 58 เพราะยอดส่งออกอะไหล่รถยนต์และอุปกรณ์อีเล็คโทรนิคลดลงขณะที่ยอดส่งออกไปประเทศอื่นในเอเชียช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้น1.1% จากปีก่อน ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก ทางการสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 11 ก.ย. 58 ลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 455.9 ล้านบาร์เรล โดยที่คลัง Cushing ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบที่ซื้อขายในตลาด NYMEX ปริมาณสำรองน้ำมันดิบลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 54.5 ล้านบาร์เรล ลดมากที่สุดในรอบ 19 เดือน Baker Hughes Inc. รายงานแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ก.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น มาอยู่ที่ 644 แท่น ลดลงต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee) หรือ FOMCในวันที่ 16-17 ก.ย. 58 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ในช่วง 0 % - 0.25 % ต่อไป ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 1 กระทรวงแรงงานสหรัฐฯรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 11,000 ราย สู่ระดับ 264,000 ราย เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งแม้จะมีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 58 เพิ่มขึ้น 3.3% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตัวลดลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเนื่องจากดัชนี S&P 500 ในตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ ในช่วงซื้อขายระหว่างวันปรับตัวลดลงมากที่สุดนับแต่ต้นเดือน ก.ย. 58 หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีท่าทีวิตกว่าเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทสหรัฐฯ ทั้งยังกังวลต่อความผันผวนของตลาดเงินโลก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ นักลงทุนตีความว่าสภาวะเงินเฟ้อยืนระดับต่ำเช่นนี้ ประกอบกับ FED ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ จะไม่เป็นผลดีต่อกำไรของบริษัทและทำให้มูลค่าหุ้นตกลง ขณะเดียวกัน อีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งดีดตัวขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ขณะที่ด้านปัจจัยพื้นฐาน Mr. Nawal al-Fuzaia ผู้แทนของคูเวตใน OPEC ตอกย้ำว่าภาวะอุปทานล้นตลาดจะยังคงดำเนินต่อไป โดยชี้ว่าตลาดน้ำมันจะปรับสมดุลใหม่ด้วยกลไกของตัวเองเพียงแต่ต้องอดทนรอ นอกจากนี้ ภาวะอุปทานล้นตลาดมีแนวโน้มถูกซ้ำเติมจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ล่าสุดกระทรวงน้ำมันอิหร่านเตรียมเปิดตัวสัญญาใหม่สำหรับการผลิตน้ำมันดิบในอิหร่านเพื่อดึงดูดบริษัทต่างชาติในช่วงเดือน ต.ค. 58 หลังมาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ มีต่ออิหร่านจะถูกผ่อนปรนหรือยกเลิก ทั้งยังแสดงความเชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันในปี 2559 จะไม่ต่ำกว่าระดับ$40-45/BBL ด้านกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ $45.10-$49.70/BBL, ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ $41.50-$47.50/BBL และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 43.10-48.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลงจากสัปดาห์ก่อนจาก International Enterprise Singapore (IES) ของสิงคโปร์รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 16 ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.7 ล้านบาร์เรล และโรงกลั่น Ruwais กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีแผนกลับมาเปิดดำเนินการหน่วยผลิตน้ำมันเบนซิน (RFCC) ขนาด 127,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในสัปดาห์นี้ หลังจากเกิดปัญหาทางเทคนิค ทำให้ปิดซ่อมแซ่มในเดือน ส.ค. 58 อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียยังนำเข้าในระดับสูง อาทิ Pertamina ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 11,320 บาร์เรล (1.8 ล้านลิตร) ส่งมอบช่วงกลาง ต.ค. 58 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.30-65.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงจาก IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ย. 58 เพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.0 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล ในเดือน ส.ค. 58 เพิ่มขึ้น5 % จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 15.3 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม Arbitrage Middle Distillates จาก Persian Gulf สู่ตะวันตกเปิด เนื่องจากค่าขนส่งต่ำ อาทิ มีการส่งออก Jet Fuel ของบริษัท Shell และ Kuwait Petroleum มุ่งหน้าสู่ยุโรป ปริมาณ 250,000 บาร์เรล และ 400,000 บาร์เรล ตามลำดับ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55.60-60.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ