โพลล์เตือนโลกโซเชียลห้าม Dislike

ข่าวเทคโนโลยี Monday October 5, 2015 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ แถลงผลการสำรวจกิจกรรมบนเครือข่ายสังคมออนไลน์นอกเหนือจากการเขียนข้อความ นำเสนอภาพ/วีดิโอ การแบ่งปันข้อความ/ภาพ/วีดิโอคือการกดถูกใจหรือ "Like" ขณะเดียวกันเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ปรากฏข่าวว่ามีผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์บางรายมีแนวคิดที่จะเพิ่มปุ่มไม่ถูกใจ "Dislike" มาให้ผู้ใช้บริการได้เป็นตัวเลือกในการกดเพื่อสื่อความหมายอีกทางหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะจากผู้ที่นิยมใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งผู้ที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าถือเป็นทางเลือกในแสดงความคิดเห็นอีกทางหนึ่งขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้แสดงความห่วงใยว่าปุ่มดังกล่าวอาจกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งกันระหว่างผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการกดปุ่มถูกใจในสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,163 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.82 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.18 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 31.99 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 33.88 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชนคิดเป็นร้อยละ 31.56 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.73 และร้อยละ 20.03 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจและนักเรียนนักศึกษาตามลำดับ ในด้านพฤติกรรมการกดปุ่มถูกใจบนเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น สำหรับประเภทของข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กลุ่มตัวอย่างนิยมกดถูกใจ "Like" มากที่สุด 3 อันดับได้แก่ รูปภาพ/วีดิโอคิดเป็นร้อยละ 85.12 ข้อความแสดงความคิดเห็น/อารมณ์/ความรู้สึกคิดเป็นร้อยละ 83.06 และเรื่องเล่าต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 78.85 ส่วนความหมายในการกดถูกใจ "Like" บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กลุ่มตัวอย่างต้องการสื่อมากที่สุด 3 อันดับคือ เพื่อแสดงการรับรู้คิดเป็นร้อยละ 84.18 เพื่อแสดงการเห็นด้วย/ความชอบคิดเป็นร้อยละ 82.12 และเพื่อแสดงการตอบรับคิดเป็นร้อยละ 79.11 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 43.25 ระบุว่าตนเองกดถูกใจ "Like" ในสิ่งต่างๆที่นำขึ้น/แบ่งปันด้วยตนเองผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์บ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.22 ระบุว่ากดทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.53 ระบุว่าตนเองไม่เคยกดถูกใจเลย ขณะเดียวกันหากไม่เห็นด้วย/ไม่เข้าใจ/ไม่ถูกใจกับข้อความ-รูปภาพ-วีดิโอบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.29 ระบุว่าตนเองไม่กดปุ่มถูกใจ "Like" เลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.23 ระบุว่าตนเองกดถูกใจเป็นบางครั้ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.48 ระบุว่าตนเองกดทุกครั้ง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 80.22 ระบุว่าตนเองไม่เคยกดถูกใจ "Like" โดยที่ไม่ได้สนใจอ่านข้อความหรือดูวีดิโอบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.91 ระบุว่าตนเองไม่เคยกดถูกใจ "Like" บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ก่อนที่จะอ่านข้อความหรือดูวีดิโอจนจบ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.09 ยอมรับว่าเคยกดถูกใจก่อนที่ตนเองจะอ่านข้อความหรือดูวีดิโอจนจบ และมีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 19.78 ยอมรับว่าเคยกดถูกใจ "Like" โดยที่ไม่ได้สนใจอ่านข้อความหรือดูวีดิโอ ในด้านความคิดเห็นต่อการมีปุ่มไม่ถูกใจ "Dislike" นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.26 มีความคิดเห็นว่าหากบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์เพิ่มปุ่มไม่ถูกใจ "Dislike" มาให้ในระบบการใช้งาน ตนเองจะใช้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.91 คิดว่าจะไม่ใช้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.83 ยังไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.08 มีความคิดเห็นว่าการมีปุ่มไม่ถูกใจ "Dislike" ขึ้นมาจะไม่ส่งผลให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.12 มีความคิดเห็นว่าจะส่งผล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.8 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.02 มีความคิดเห็นว่าปุ่มไม่ถูกใจ "Dislike" สามารถนำมาใช้แสดงความเสียใจ/ความเศร้าใจ/การเห็นอกเห็นใจ/ให้กำลังใจได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.43 มีความคิดเห็นว่าใช้แทนไม่ได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.55 ไม่แน่ใจ และสำหรับความคิดเห็นต่อการมีปุ่มแสดงความรู้สึกบนเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 42.13 อยากให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์เพิ่มปุ่ม สู้ๆ (cheer up) มากที่สุด รองลงมาอยากให้เพิ่มปุ่ม เบื่อ/รำคาญ (bored/annoyed) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26.31 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.68 และร้อยละ 14.88 อยากให้เพิ่มปุ่ม เสียใจด้วย (sorry) และปุ่ม ขอโทษ/ขออภัย (apologize) มากที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ