กยศ. แจงขั้นตอนติดตามหนี้ก่อนบังคับคดี

ข่าวทั่วไป Friday November 6, 2015 15:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงขั้นตอนการติดตามหนี้ผู้กู้ยืมกลุ่มค้างชำระหนี้ต่อเนื่องนานหลายปีกว่าจะถึงขั้นบังคับคดี วอนผู้กู้ยืมรุ่นพี่ชำระเงินคืนเพื่อนำเงินภาษีประชาชนกลับมาหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้รุ่นน้องต่อไป ดร. ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนฯ ได้เปิดเผยว่า "ปัจจุบันกองทุนมีผู้กู้ยืมทั่วประเทศที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจำนวนกว่า 4.5 ล้านราย ประกอบด้วย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ประมาณ 3 ล้านราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปลอดหนี้ประมาณ 9 แสนราย และผู้กู้ชำระปิดบัญชีแล้วกว่า 3 แสนราย สำหรับการติดตามหนี้กับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ กองทุนมีเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ผ่อนปรนมาก เนื่องจาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จริงๆ กล่าวคือ เมื่อผู้กู้ยืม สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วจะมีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี และต้องผ่อนชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี หากผู้กู้ทำสัญญากู้ยืมจำนวน 100,000 บาท งวดแรกผ่อนชำระเงินต้นเพียง 1,500 บาทต่อปีโดยไม่มีดอกเบี้ย งวดถัดไปผ่อนชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี หากผู้กู้ยืมยังไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้เนื่องจากไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อยหรือเป็นผู้ประสบภัยพิบัติจาก ภัยธรรมชาติหรือเหตุจลาจล ก็ยังสามารถขอผ่อนผันการชำระหนี้ได้ที่ บมจ. ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา ในปีแรกที่ผู้กู้ยืมครบกำหนดชำระหนี้ กองทุนได้ส่งหนังสือแจ้งภาระหนี้พร้อมตารางการผ่อนชำระหนี้ให้ผู้กู้ยืมทราบพร้อมชำระหนี้ และในปีต่อไปจะจัดส่งใบแจ้งหนี้ หากผู้กู้ยืมยังไม่ชำระหนี้ ผู้กู้จะต้องเสียเบี้ยปรับผิดนัดในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี (กรณีค้างไม่เกิน 1 ปี) หรือในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี (กรณีค้างเกิน 1 ปี) ของเงินต้นที่ค้างชำระ และกองทุนจะส่งจดหมายติดตามทวงถามหนี้และจ้างติดตามหนี้ หากผู้กู้ยืมไม่ชำระหนี้และมีหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 5 งวดขึ้นไป กองทุนจะมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและฟ้องคดีต่อศาล เมื่อศาลมี คำพิพากษาแล้วผู้กู้ยืมไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา กองทุนจะต้องทำการสืบทรัพย์บังคับคดี โดยการยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน เนื่องจากเงินกองทุนเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินหรือภาษีอากรของประชาชนที่นำมาให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งต้องนำเงินกลับมาเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้รุ่นน้องต่อไป ดังนั้น กองทุนจึงขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ที่ค้างชำระหนี้มาติดต่อชำระเงินคืนเพื่อแสดงถึงจิตสำนึก ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมถึงเป็นการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสเรียนต่อเช่นกัน" ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ