ปลัด พม. เน้นย้ำปัญหาเด็กติดเกม ต้องบูรณาการทุกเครือข่ายร่วมแก้ไขปัญหา พร้อมชื่นชมชายชราอายุ ๖๗ ปี ช่วยจับผู้ร้ายวิ่งราวชิงทรัพย์ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ข่าวทั่วไป Friday November 20, 2015 21:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (๑๙ พ.ย. ๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปพม.) เป็นประธานการประชุม ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๒๘๖/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม นายไมตรี กล่าวว่า สำหรับการจัดงานเวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ ๒๖ ภายใต้หัวข้อ "BE SMART & SAFE ONLINE : ก้าวทันสื่อ รู้ทันสิทธิ...ออนไลน์" ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ วานนี้ ตนเห็นว่าประเด็นการจัดงานดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ที่เกิดขึ้นในสังคม ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะปัญหาเด็กติดเกมและการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือร่วมใจ และบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อหามาตรการการแก้ไขปัญหา และแนวทางการป้องกัน ต้องประสานพลังกัน ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถาบันครอบครัว ในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน รวมถึงสื่อมวลชนต้องเป็นสื่อกลางนำเสนอและเผยแพร่ข่าวสารที่ดีและถูกต้องไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนด้วย นายไมตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีชาวสังคมออนไลน์แชร์เรื่องราวชื่นชมพลเมืองดีเป็นชายชราวัย ๖๗ ปี อาชีพขับรถ จักรยานยนต์รับจ้าง ที่ติดตามคนร้ายก่อเหตุวิ่งราวชิงทรัพย์ จนสามารถจับกุมไว้ได้ ภายในซอยแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้านชายชราเปิดเผยว่าไม่กลัวอันตรายที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น อีกทั้งเป็นการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ตนขอชื่นชมในความกล้าหาญและมีน้ำใจช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่นิ่งเฉยเมื่อเห็นคนกระทำความผิด นับเป็นตัวอย่างที่ดีและน่ายกย่อง "ตั้งแต่วันที่ ๑๖ – ๒๐ พ.ย. ๕๘ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ดำเนินการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ ครั้งที่ ๖ ซึ่งในการจัดระเบียบขอทานวันที่สาม (วันที่ ๑๘ พ.ย.๕๘) พบขอทาน จำนวนทั้งสิ้น ๗๙ ราย แบ่งเป็นขอทานคนไทย ๕๓ ราย ขอทานต่างด้าว ๒๖ ราย โดยเป็นชาวกัมพูชา ๒๑ ราย และพม่า ๕ ราย ทั้งนี้ จากการจัดระเบียบขอทานทั้งสามวัน (วันที่ ๑๖-๑๘ พ.ย.๕๘) มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๓๔ ราย แบ่งเป็นขอทานคนไทย ๑๖๐ ราย ขอทาน ต่างด้าว ๗๔ ราย โดยเป็นชาวกัมพูชา ๕๘ ราย พม่า ๑๓ ราย และจีน ๓ ราย ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นจังหวัด ที่พบขอทานมากที่สุด โดยพบขอทานจำนวน ๔๕ ราย" นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ