จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 31/2558 : แนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการตามหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz, แนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่

ข่าวเทคโนโลยี Monday November 23, 2015 17:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--NBTC Rights การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 31/2558 วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องแนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการตามหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz และเรื่องแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม วาระเรื่องแนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการตามหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ภายหลังจากที่การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต สิ้นสุดลงด้วยเงินประมูลที่สูงถึง 80,778 ล้านบาท ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเกิดความกังวลว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะผลักภาระต้นทุนมายังผู้บริโภคผ่านการขึ้นอัตราค่าบริการหรือไม่ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ผู้ให้บริการไม่สามารถคิดค่าบริการแพงกว่าอัตราเฉลี่ยในปัจจุบันได้ เนื่องจากในการจัดประมูลคลื่นความถี่ สำนักงาน กสทช. ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ที่เพิ่งมีการจัดประมูลเสร็จสิ้นไป และประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ซึ่งกำลังจะมีการจัดประมูลเดือนในธันวาคม โดยประกาศทั้งสองฉบับได้ระบุเงื่อนไขไว้ด้วยว่า "ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการที่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค มีความชัดเจน และการให้บริการที่มีคุณภาพ" ซึ่งผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการทั้งบริการเสียงและบริการข้อมูลเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz และต้องจัดให้มีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อย 1 รายการที่ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการได้ โดยรายการส่งเสริมการขายนี้ต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงด้วย สำหรับวาระนี้ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำแนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์ทั้งสองฉบับ โดยสำนักงาน กสทช. ได้คำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่าน 2100 MHz ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2558 เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการบนย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ซึ่งผลการคำนวณอัตราค่าบริการประเภทเสียงอยู่ที่นาทีละ 0.72 บาท บริการ SMS อยู่ที่ข้อความละ 1.24 บาท บริการ MMS อยู่ที่ข้อความละ 2.93 บาท และบริการ Mobile Internet อยู่ที่เมกะไบต์ละ 0.26 บาท อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า อัตราค่าบริการที่สำนักงาน กสทช. คำนวณได้ในบางรายการ มีอัตราค่าบริการสูงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยเมื่อสิ้นปี 2557 เสียอีก ทั้งนี้ตามรายงานติดตามตรวจสอบและกำกับค่าบริการสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2100 MHz ฉบับประจำเดือนธันวาคม 2557 ระบุว่า อัตราค่าบริการประเภทเสียงอยู่ที่นาทีละ 0.66 บาทเท่านั้น ส่วนอัตราค่าบริการ Mobile Internet อยู่ที่เมกะไบต์ละ 0.23 บาท จึงเป็นประเด็นที่น่าเคลือบแคลงว่าเหตุใดในการคำนวณครั้งนี้กลับมีราคาที่แพงขึ้น ทั้งที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าอัตราค่าบริการของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผ่านมามีแนวโน้มถูกลงมาโดยตลอด ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน สำนักงาน กสทช. ก็ควรเปิดเผยต่อสาธารณะถึงวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยโดยละเอียด รวมทั้งรายการส่งเสริมการขายทั้งหมดที่นำมาคำนวณด้วย จะได้ขจัดข้อครหาเรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ให้บริการ หรือการไม่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ หากสำนักงาน กสทช. ยังคงเลือกใช้แนวทางการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยในรูปแบบเดิม ในการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่าน 2100 MHz ครั้งนี้ ก็ควรมีการปรับปรุงให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเคยมีนักวิชาการชี้จุดบกพร่องในหลายประเด็น เช่น การคำนวณอัตราค่าบริการประเภทเสียงของรายการส่งเสริมการขายประเภทเหมาจ่ายตามช่วงเวลา (Buffet) มีการคำนวณโดยนำอัตราค่าบริการมาหารเฉลี่ยนาทีทั้งหมดตามรายการส่งเสริมการขาย ซึ่งทำให้ผลลัพธ์การคำนวณที่ได้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะพฤติกรรมการใช้บริการโดยปกติของคนทั่วไปไม่ได้ใช้งานทุกนาทีอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาดังกล่าว หรือการคำนวณอัตราค่าบริการโดยอาศัยเพียงข้อมูลอัตราค่าบริการของรายการส่งเสริมการขายแต่ละรายการโดยไม่มีการถ่วงน้ำหนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รายการส่งเสริมการขายในแต่ละรายการมีจำนวนผู้ใช้บริการมากน้อยแตกต่างกัน เป็นต้น ดังนั้นสำนักงาน กสทช. ควรปรับปรุงแนวทางในครั้งนี้เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการตามวัตถุประสงค์ของประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ ได้อย่างแท้จริง วาระแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ วาระนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 6/2558 วันที่ 31 มีนาคม 2558 มีมติให้สำนักงาน กสทช. จัดทำหลักเกณฑ์การทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมหรือเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับประกาศหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งในประกาศกำหนดว่า "การขอใบอนุญาตในการติดตั้งเสาวิทยุโทรคมนาคม ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะติดตั้งและบริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันความวิตกกังวลของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีบริเวณที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น สถานพยาบาล โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก" ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างหลักเกณฑ์การทำความเข้าใจกับประชาชนกำหนดให้เสาส่งสัญญาณที่มีความสูงเกิน 25 เมตรขึ้นไป และที่ตั้งใกล้กับสถานพยาบาล โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก จะต้องมีการจัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในบริเวณใกล้เคียงที่ตั้ง รวมทั้งติดป้ายเพื่อแสดงข้อมูล และแจกเอกสารเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนในรัศมี 500 เมตร ส่วนกรณีเสาส่งสัญญาณที่มีความสูงไม่เกิน 25 เมตร ให้ผู้ประกอบการดำเนินการเพียงติดป้ายและแจกเอกสารเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชน โดยระยะเวลาในการทำความเข้าใจต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน และหากมีการร้องเรียนภายใน 30 วัน ให้ผู้ประกอบการทำความเข้าใจกับผู้ร้องเรียนโดยตรงก่อน และหากยังไม่ได้ข้อยุติ ก็ให้แจ้งผู้นำชุมชนเพื่อเชิญประชาชนมาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจอีก 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำร่างแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนที่เกี่ยวกับการตั้งเสาส่งสัญญาณนี้ ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง นอกจากนี้ ยังพบว่าร่างแนวทางดังกล่าวมีการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่ชัดเจนในหลายประเด็น เช่น การกำหนดให้เสาส่งสัญญาณที่มีความสูงไม่เกิน 25 เมตร ไม่ต้องทำความเข้าใจโดยการจัดประชุม คำถามคือหากประชาชนต้องการให้ทำความเข้าใจโดยการจัดประชุม จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร หรือการกำหนดช่วงเวลาร้องเรียนไว้ภายใน 30 วัน แต่หากมีการร้องเรียนภายหลัง 30 วัน จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ การกำหนดผู้เข้าร่วมประชุมว่าให้เป็นไปตามผู้นำชุมชนหรือผู้นำท้องถิ่นเห็นสมควร ก็เป็นเงื่อนไขที่ขาดความชัดเจนและอาจเกิดปัญหาเมื่อนำไปบังคับใช้ในทางปฏิบัติอีกด้วย ดังนั้น ในวาระนี้หากที่ประชุม กทค. มีมติเห็นชอบแนวทางที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอ แทนที่ปัญหาข้อขัดแย้งในการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมระหว่างท้องถิ่นกับผู้ประกอบการจะได้รับคลี่คลาย ก็อาจกลายเป็นการผูกปมปัญหาให้ซับซ้อนขึ้น ตราบใดที่แนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนจึงไม่มีความชัดเจนเพียงพอและไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนโดยทั่วถึงกัน
แท็ก คมนาคม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ